เภสัชกรกับการสื่อสาร: ตกตะกอนความคิดกับนิสิตนักศึกษาเภสัชนักพูดจากกิจกรรม ‘เขียวมะกอก Talk’

ThaiYPGrow ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์นักพูด ผู้ได้รับรางวัลจากเวที เขียวมะกอก Talk งานกีฬาเภสัชสัมพันธ์ ครั้งที่ 30 มรกตไอยราเกมส์ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2653 โดยมี “The Crossover of Pharmacy ความสัมพันธ์ระหว่างเภสัชกรกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว”เป็นหัวข้อในการแข่งขัน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกหัวข้อจาก 17 หัวข้อที่กำหนด
นางสาวสศิยา วรธำรงผไท (จูนิน) ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลชนะเลิศ จากหัวข้อ “เภสัช x ไสยศาสตร์” นายณัฐสิทธิ์ ศรีทองอินทร์ (โอม) ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1จากหัวข้อ “เภสัช x ไสยศาสตร์” และ นายปรินทร บำรุงวงศ์ (เอิร์ธ) ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับหัวข้อ “เภสัช x สังคมออนไลน์”



เริ่มต้นสนใจการพูดจากการได้รับโอกาสและความเชื่อใจจากใครสักคน
ทั้งสามคนมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การได้รับโอกาสเล็ก ๆ ให้ได้ทำจากผู้ใหญ่ จากใครสักคน หรือสถานการณ์ที่บังคับให้ต้องทำ และจากจุดนั้นกลายเป็นการเริ่มต้นของเส้นทางความสนใจในการพูด
จูนิน “ตอนเด็ก ๆ เป็นคนที่ปฏิเสธคนไม่เป็น ใครให้ทำอะไรก็ทำหมด ตอนเด็ก ๆ หนูเป็นคนชอบฟังนิทานจากวิทยุ ครั้งแรกที่ได้พูด คือ เขาให้ไปเล่านิทาน เราก็ไปเล่านิทาน ตอนนั้นประมาณ 5 ขวบ เป็นเรื่องที่ประทับใจไม่กี่เรื่องที่ยังจำได้”
เอิร์ธ “ตอนนั้น ม.3 อาจารย์มาเลือกตัวไปแบบไม่ได้คาดหวังอะไร ให้ไปแข่งกิจกรรมที่ชื่อว่า Theory of knowledge (TOK) เป็นกิจกรรมของโรงเรียนมาตรฐานสากล เขาจะให้แข่งขันกันหาข้อมูลภายในเวลาจำกัด แล้วต้องทำเป็นรายงานและพูดนำเสนอ ปรากฏว่าเข้ารอบ ผ่านไประดับจังหวัด ระดับเขต จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้พบว่าเราเองก็พูดได้นี่ และ สนุกที่จะพูด พอขึ้นมาม.ปลายอยู่ Gifted วิทย์ ก็ได้ฝึกฝนจากการนำเสนอโครงงานตลอด ม.4 ม.5 ม.6”
โอม “ของผมก็เกี่ยวกับโครงงานวิทย์เหมือนกัน มาเริ่มที่ตอน ม.ปลาย เลย ตอนม.ปลาย ผมเป็นคนที่เงียบมาก ไม่พูด การนำเสนอโครงงานวิทย์เป็นโอกาสแรก ๆ ที่ได้พูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ เพราะมันเป็นไฟต์บังคับว่าต้องพูด แล้วหลังจากนั้นก็ได้เป็นตัวแทนไปแข่งประกวดโครงการวิทยาศาสตร์กับเพื่อน ๆ เป็นทีมมาตลอด”
สะสมประสบการณ์จากการทำบ่อย ๆ อาสาเดินเข้าหาโอกาสที่จะได้ทำ
โอม “พอเข้ามหาวิทยาลัยผมก็เข้าไปอยู่ชมรม Gavel club ของจุฬาฯ เป็นชมรมที่ส่งเสริมเรื่อง public speaking เป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้น คือ เรารู้สึกว่าอยากพูดเก่งขึ้น การที่เราพรีเซนต์อะไรได้และมีการพูดที่ดีมันเป็นจุดขาย คนที่เก่ง แต่พูดไม่ได้อธิบายไม่ถูก เขาก็ดูดร็อปลงไป อยู่ในคณะผมก็ชอบพูดเล่าเรื่องหรือรีวิวอะไรบ่อย ๆ เพื่อนชอบบอกว่าขายเก่ง เวลาพูดแล้วเพื่อนสนุก ตลก เราก็พูดไปเรื่อย”
เอิร์ธ “ได้รับโอกาสให้พูดบ่อย ๆ เช่น พูดหน้าห้องในวิชาภาษาไทย เป็นคน defend เวลาพรีเซนต์ต่าง ๆ แล้วก็ผมก็อาสาไปช่วยงาน เป็นพิธีกรงานค่ายของคณะหรือกิจกรรมต่าง ๆ”
จูนิน “อย่างที่บอกว่าหนูปฏิเสธคนไม่เป็น ครูมาเรียกก็ไปแข่ง มีคนอยากให้ลองทำ ก็ลองทำก็ได้ ดีบ้างไม่ดีบ้างก็ได้เรียนรู้ บางช่วงที่เฟลมาก ๆ ก็หยุดไป แต่หนูเป็นคนจุดติดขึ้นมาใหม่ได้ง่าย เป็นคนซน ๆ แต่ที่ผ่านมาเป็นการแข่งพูดแบบสุนทรพจน์หมดเลยทุกเวที”

“เขียวมะกอก Talk” ในงานเภสัชสัมพันธ์ที่เชียงใหม่
โอม & เอิร์ธ “ไม่ได้คิดจะสมัครแต่แรก”
เอิร์ธ “แต่พอดีมีเพื่อนในชั้นปีส่งลิงก์มาให้ บอกว่าสมัครสิ เขาเห็นผมเป็นคนชอบพูด สุดท้ายตัดสินใจส่งคลิปเอา 1 วันก่อนหมดเขต”
โอม “พอ ๆ กัน คือ ผมเห็นว่าเพื่อนจะไปเชียงใหม่ แล้วอยากไปเชียงใหม่ด้วย แต่สมัครกีฬาไม่ทันมันหมดเขตไปแล้ว เหลือแต่ว่ายน้ำ ผมก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ว่าเหลืออะไรก็เจอกิจกรรมนี้ เลยคิดว่าเป็นตัวแทนไปแข่งพูดน่าจะดูมีอนาคตกว่าไปแข่งว่ายน้ำ (หัวเราะ)”
จูนิน “หนูตั้งใจสมัครเอง เพราะอยากลอง เรายังไม่เคยพูดในฐานะนักศึกษาเภสัชเลย หัวข้อของทั้งรอบคัดเลือกกับรอบชิงชนะเลิศก็น่าสนใจดี”
ความกลัวที่มีในใจ และ Comfort Zone ที่อยากจะก้าวออกไป
จูนิน “ท้าทายมากอยู่เหมือนกัน คือ ที่ผ่านมาหนูพูดแต่สุนทรพจน์ที่เป็นแบบแผนเป็นทางการมาตลอด แล้วเวทีของเภสัชอันนี้ไม่ได้เป็นแบบแผนทางการขนาดนั้น แล้วหนูเป็นคนที่ขยับไม่ได้ด้วยเวลาพูดคือถ้าขยับแล้วจะหลุด ปกติเราจะยืนอยู่กับที่แล้วพูดไป มันก็มีกลัว ๆ บ้าง แต่ก็รู้สึกว่าลองดู ก้าวผ่าน comfort zone”
เอิร์ธ “ตอนแรกที่ผมไม่คิดว่าจะสมัคร เพราะกลัวว่าเขาจะถามความรู้ของปีสูง ๆ ที่เรายังไม่ได้เรียน เราเพิ่งปี 2 เอง แต่ก็ลองดู อยากไปแข่งในเวทีใหม่ ๆ”
โอม “สนามนี้เป็นสนามแรกเลยที่ผมแข่งคนเดียว คือ ตอนม.ปลาย มันแข่งเป็นทีม ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเราด้อยที่สุดในทีมนะ ที่ชนะมาได้ เพราะเพื่อนเทพมากกว่า เราได้แต่ท่องสคริปต์ จำ ๆ ไป เราไม่ได้มีศักยภาพของการเป็นนักพูด พออยู่มหาลัยผมก็โดนวิจารณ์อยู่บ่อยว่าพูดโอเวอร์ โดนอาจารย์ดุว่าพูดไร้สาระ หยุดมโนได้แล้ว มันก็เป็นความท้าทายพอสมควร เราแอบกดดันตัวเองด้วยว่าอยากทำให้ดี”

การต่อสู้กับความท้าทายและความรู้สึกที่อยากท้อถอย
โอม “ก็จริงอย่างที่เขาพูด การโดนวิจารณ์มันก็ไม่เจ็บขนาดนั้น ถ้าจะโดนด่า ก็ขอเอาคำด่ามาปรับปรุงพัฒนาแล้วกัน ผมคิดอย่างนี้นะ การเตรียมตัวการซ้อมของผม คือ Research เขียนบท ไปปรึกษารุ่นพี่ให้ช่วยโค้ช พูดหน้าไอแพดอัดเป็นคลิปส่งให้เพื่อนคอมเมนต์ ส่งให้ที่บ้านดู รวม ๆ ก็สัก 10 คน เอาคอมเมนต์มาปรับแล้วก็อัดใหม่ ดูแล้วก็แก้ไปเรื่อย ๆ ผมไม่ได้เก่งที่จะทำคนเดียวได้ แล้วก็คนไทยวิจารณ์เก่งก็ให้เขาช่วยบอกเรา ปีใหม่เหงา ๆ ด้วยก็ถือว่าดี มีเรื่องให้ชวนเพื่อนคุย”
เอิร์ธ “ของผมก็ซ้อม ก่อนแข่งจริงก็ไปเตรียมตัวไปถึงคนแรก ตื่นเต้น กดดัน ยิ่งพอรู้ว่ากรรมการมีอาจารย์อาวุโสที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการพูด มีพี่ศิษย์เก่า ทีแรกเรานึกว่ากรรมการจะเป็นปี 4 ปี 5 ปี 6 พอถึงเวลาพูดจริงก็บอกตัวเองว่า ทำให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด”
จูนิน “ของหนู คือ ทำการบ้านหนักมาก (ลากเสียง) หนูเป็นคนจริงจังกับการพูดมาก ๆ โทรหาเพื่อน ๆ ทุกคน ลองหลาย ๆ prototype อย่างไอเดียการเริ่มต้นด้วยบทสวดนี่ก็มาจากการที่เพื่อนพูดเล่น ๆ ว่า ‘พูดเรื่องเภสัชกับไสยศาสตร์ก็ขึ้นไปสวดมนต์เลย!’ หนูก็เลยหาเป็น “คาถาพระอินทร์เดาข้อสอบ”
แล้วการพูดในครั้งนี้หนูก็ทำเครื่องรางเองด้วย มันคือกระดาษที่ทำเป็นตารางไว้ แล้วทุกครั้งที่ซ้อมก็จะเขียนดาวไป 1 ดวง ซ้อมที่บ้าน บนรถ หน้ากระจก พอมันมีที่เงียบ ๆ ให้พอซ้อมได้ก็ซ้อม จนถึงวันที่หนูไปแข่งรอบสุดท้ายที่ซ้อม เครื่องรางชิ้นนี้มีดาวที่หนูนับได้ 52 ดวง ดีเหมือนกันนะคะ เพราะมันเป็นเครื่องรางที่มาจากความพยายามเราเองทั้งหมดแล้วมันก็ทำให้เราสบายใจขึ้นได้ด้วย”

การท้าทายตัวเองในครั้งนี้ทำให้เติบโตไปอย่างไร?
จูนิน “สำหรับหนูก็ได้ปลดล็อกการพูดในอีกรูปแบบ แม้เราจะพูดมาเยอะก็จริงแต่ทุกเวทีที่ไปมันก็มีความท้าทายที่ไม่ซ้ำกันเลย อย่างครั้งนี้เราไปเจอกับจุดที่รู้สึกว่า ‘เราออกจาก comfort zone มาไกลไปไหม เราไม่เคยตันขนาดนี้มาก่อน’
คิดเหมือนกันว่าหรือจะยอมแพ้แล้วเปลี่ยนหัวข้อไม่เอาไสยศาสตร์แล้ว แต่อีกใจนึงก็คิดว่า ถ้ายอมแพ้แล้วมันจะเป็นตราบาป คือ เราจะวนเวียนกับความคิดที่ว่า เราทำได้ไหมนะ จริง ๆ แล้วตอนนั้นเราไม่ควรยอมแพ้หรือเปล่า การผ่านมาได้ในครั้งนี้มันเหมือนเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่เตือนเราว่าตอนนั้นที่มันมืดมาก ๆ เราก็ผ่านมาได้ ต่อไปก็จะมั่นใจมากขึ้น แถมโอกาสนี้ทำให้ได้กลับไปคุยกับเพื่อนเก่าสมัยมัธยมอีก 4-5 คนด้วย”
โอม “ผมว่าผมก้าวข้ามความรู้สึกเก่า ๆ ได้ ความรู้สึกที่ว่าตอนนั้นเราได้รางวัลเพราะเพื่อนในทีม การผ่านเวทีนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมพัฒนาได้ ผมไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ม.ปลาย ตอนม.ปลายเคยคิดว่าเราคงไม่ได้เอาดีทางการพูดแล้ว เคยคิดว่าเราพัฒนาได้น้อย แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่”
เอิร์ธ “เราเหมือนก้าวข้ามความกลัวในอดีต จากเดิมที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกหรือยืนต่อหน้าคนเยอะๆ แต่การที่ได้ทำอะไรแบบนี้บ่อย ๆ มันทำให้เรากล้ามากขึ้น แถมเรายังได้เรียนรู้จากรุ่นพี่เภสัชคนอื่นๆมากมาย พี่แต่ละคนก็มีเทคนิคการพูดต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่เราหาไม่ได้จากในห้องเรียน ทั้งการพูดจากประสบการณ์ในชีวิตตัวเอง การใช้บทสวด การอ่านกลอน การพูดแบบละครเวที ผมว่าอันนี้มันมีค่ามากกว่าเงินรางวัลและชัยชนะผมมองว่าเราได้เติบโตไปอีกก้าวหนึ่ง ได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และได้ท้าทายตัวเอง จะเก็บเอาคำแนะนำจากรุ่นพี่และคณะกรรมการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคตแน่นอน”

ข้อความสำคัญจาก Talk ของเรา
เอิร์ธ ““ของผมคือ เภสัช x สังคมออนไลน์ ทุกวันนี้สังคมออนไลน์ หรือ Social media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เชื่อมโยงคนทั่วโลกเข้าหากัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตเราตั้งแต่วันแรกที่เราตัดสินใจเลือกเรียนคณะเภสัชแล้ว
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านยา ในด้านที่ไม่ดีก็อาจจะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การซื้อขายยาอันตรายผ่านหน้าร้านออนไลน์ การขายอาหารเสริมที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย การทำอะไรที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็ทำให้เกิดกับภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อเภสัชกร
แต่หากมองในส่วนที่เป็นประโยชน์ สังคมออนไลน์ ก็ทำให้เรารวมตัวกันได้ง่ายขึ้น อย่างการต่อต้านพ.ร.บ.ยา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงประชาชนในการให้ความรู้ ติดตามการใช้ยา นอกจากนี้ สังคมออนไลน์ ยังเป็นประโยชน์ในด้านที่มันเป็นที่ที่ใช้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กันและกัน ทำให้เรามีความหวังและอยากที่จะทำในสิ่งดี ๆ”
โอม “เภสัช x ไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์มันดูเหมือนเป็นเรื่องที่งมงายเป็นศาสตร์โบราณ แต่ถ้าเราเอามาปรับใช้ให้ดี มันก็ให้ผลที่น่าสนใจ การเลือกนำมาใช้กับกลุ่มที่จำเพาะที่เชื่อในสิ่ง ๆ นั้น หรืองานวิจัยเกี่ยวกับ psychopharmacotherapy คือ การใช้ยาร่วมกับการพูดคุยเพื่อเข้าใจและปรับมุมมองความคิด ก็มีผลลัพธ์พิสูจน์ว่ามันให้ผลดีเสริมกัน”
จูนิน “เภสัช x ไสยศาสตร์ ในมุมมองของหนู การเป็นนักศึกษาเภสัช เราเป็นเหมือนจุดตรงกลางที่เชื่อมระหว่างเภสัชกรกับประชาชนทั่วไป ประชาชนที่มารับยาเขามาพร้อมกับความเชื่อและประสบการณ์ที่เขามี เราสามารถที่จะรับฟังและทำความเข้าใจโดยไม่ต่อต้านหรือรังเกียจได้ไหม อยากให้เภสัชเปิดใจรับฟังเพื่อการดูแลการใช้ยาของคนไข้ เพราะถ้าเราให้ยาไปแต่คนไข้ไม่กินหรือเขาไม่เปิดใจรับมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ความจริงที่เราทราบกับความจริงที่คนอื่น ๆ ทราบ แต่ละคนการแปลความก็ไม่เหมือนกัน เราจะหาจุดร่วมได้อย่างไร
เราสามารถเป็นความสบายใจให้เขาสามารถเล่าบอกสิ่งที่เขาคิดและเชื่อได้โดยที่ไม่ต้องปิดบังได้ไหม ข้อสรุปอาจจะกลายเป็นว่า ให้เภสัชศาสตร์เป็นยากิน แล้วให้ไสยศาสตร์เป็นยาใจ ก็ได้”

ส่งท้าย
จากการที่ได้คุยกับน้อง ๆ เรา ThaiYPGrow ก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับน้อง ๆ ผ่านประสบการณ์เขียวมะกอก Talk สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้สำคัญจากบทสนทนา คือ การมอบโอกาสให้ใครสักคนที่เราเห็นว่าเขามีศักยภาพแต่ยังขาดความมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญ เพียงจุดเล็ก ๆ ที่ได้เริ่มได้เติบโตและต่อยอดไปอีกไกล การคว้าโอกาสเพื่อฝึกฝนและท้าทายตัวเองอยู่เสมอ ในวันที่ท้อแท้หรือล้มให้หาวิธีการของตัวเองที่จะเยียวยาและลุกยืนขึ้นใหม่ อย่ากลัวที่จะล้มเหลวหรือผิดพลาด พาตัวเองไปเจอกับคำแนะนำคำติชมเพื่อนำมาปรับปรุง เพื่อพัฒนาให้ตัวเองดีขึ้นต่อไป ไปเป็นคนที่เราอยากเป็น พาตัวเองไปใกล้คนเก่ง สังเกตและเรียนรู้จากกันและกัน นี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เภสัชไทยรุ่นใหม่เติบโต / ThaiYPGrow x มะเขือเทศเดินดิน.
ขอขอบคุณ
– เจ้าภาพงานกีฬาเภสัชสัมพันธ์ ครั้งที่ 30 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– นางสาวสศิยา วรธำรงผไท (จูนิน) ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล
– นายณัฐสิทธิ์ ศรีทองอินทร์ (โอม) ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– นายปรินทร บำรุงวงศ์ (เอิร์ธ) ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล