การจะเปิดร้านยาสักหนึ่งร้านสิ่งหนึ่งที่เจ้าของจะต้องคำนึง คือ “ทำเล” ทำเลที่ดีส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในจุดที่มีคนผ่านไปผ่านมามาก แต่หากวันดีคืนดีคนที่ผ่านไปผ่านมานั้นไม่ใช่คนดี เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร เราจะพอลดความเสี่ยงได้ไหมตั้งแต่เปิดร้านแต่แรก จะออกแบบร้านยาอย่างไร ให้ปลอดภัยและป้องกันโจรและมิจฉาชีพ
การจัดพื้นที่ร้านไม่ให้ดึงดูดโจร
หลักสำคัญในการจัดวางพื้นที่ร้าน คือ การทำให้โล่ง โปร่ง และมองเห็นได้จากทั้งภายในร้านและภายนอกร้าน เพราะหากโจรบุกเข้ามาทำอะไร คนที่อยู่ข้างนอกก็จะได้มองเห็นได้
- คนข้างนอกสามารถมองเห็นเข้ามาในร้านได้ไหม? เราเอาสินค้าหรือโปสเตอร์มาบังไว้จนคนข้างนอกมองเข้ามาไม่เห็น จนร้านเราเป็นจุดอับสายตาหรือเปล่า ?
- จากจุดที่เภสัชกรปฏิบัติการสามารถมองเห็นทั่วทั้งร้านได้ไหม? มองเห็นประตู หน้าต่างได้ครบหรือเปล่า?
- ถ้าจุดคิดเงินกับจุดจ่ายยาเป็นคนละจุด ระหว่างสองจุดนี้มองเห็นกันและกันไหม ?
- แสงสว่างที่จัดไว้ทำให้มองเห็นทางเข้าทางออกชัดเจน และส่วนของหลังร้านมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มืดสลัว
- กลอน deadbolt lock หรือกระจก shatter-proof เราเลือกมาใช้และติดตั้งไว้ในจุดไหนบ้าง ? จำเป็นต้องมีประตูกั้นปิดไว้ตรงไหนบ้าง?
- หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เรามีที่กำบังตัวเองได้มิดชิดจุดใดได้บ้าง?
ระบบการแจ้งเตือนและสังเกตการณ์
- เวลาที่ปิดร้านแล้วไม่มีคนเฝ้าร้าน เรามีสัญญาณกันขโมยหรือระบบแจ้งเตือนไหม ? เช่น กล้องที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวแล้วแจ้งเตือนได้ หรือ สัญญาณกันผู้บุกรุก
- เรามีระบบที่จะส่งสัญญาณไปบอกคนข้างนอกร้านบ้างไหม หากเกิดเหตุแล้วเราหรือพนักงานอยู่ข้างใน
- เรามีระบบจับสังเกตพฤติกรรม เช่น กล้องวงจรปิด ที่เอาไว้บันทึกพฤติกรรมโจรหรือผู้ต้องสงสัยไหม ?
- กล้องวงจรปิด มีทั้งภายในและภายนอกร้าน ครอบคลุมทุกจุดสำคัญแล้วหรือไม่? คลิปจากกล้องวงจรปิดถูกอัดเก็บไว้อย่างน้อย 7 วันไหม ?
- จุดที่ติดตั้งระบบวงจรปิด และ กล้องวงจรปิด มิดชิดหรือเห็นได้โจ่งแจ้งว่ามีกล้องตรงไหนบ้าง ? อาจจะมีบางส่วนที่ยอมให้เห็นได้ บางส่วนซ่อนไว้ในจุดลับสายตา
- หากมีระบบหรือปุ่มที่จะส่งสัญญาณเตือนภัย แนะนำให้ตอนกลางวันเป็นการส่งสัญญาณแบบไม่ใช้เสียง (Silent alarm) และตอนที่ร้านปิดเป็นแบบส่งเสียงดัง (Loud alarm)
- จุดติดตั้งปุ่มส่งสัญญาณแจ้งเตือน เห็นได้ชัด เดาได้ง่ายไปหรือเปล่า ?
การเก็บสินค้าและเงินทองให้ปลอดภัย
- เรามีตู้เซฟหรือพื้นที่ปลอดภัยที่จะเก็บของมีค่าไหม ?
- หากมีวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดให้โทษเก็บไว้ให้มิดชิดและไม่สะสมไว้เยอะเกิน
- หมั่นเอาเงินสดไปฝากธนาคารหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ไม่เก็บทิ้งไว้ในร้านข้ามคืน
นโยบายร้าน พฤติกรรมพนักงานและการฝึกซ้อม
- มีการตรวจสอบประวัติพนักงานก่อนว่าจ้างใช่ไหม ? โดยเฉพาะพนักงานที่จะทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบยา ดูแลวัตถุออกฤทธิ์ และเงินทอง
- กำชับและเน้นย้ำกับพนักงานและคนในครอบครัวว่าไม่ให้นำเรื่องระบบความปลอดภัยของร้านไปพูดที่ไหนกับใคร
- ฝึกฝน ฝึกซ้อมพนักงานให้สังเกตและเฝ้าระวังพฤติกรรมต้องสงสัยเสมอ
- พนักงานรู้วิธีปฏิบัติและสามารถทำได้คล่องแคล่วเมื่อพบโจรหรือมิจฉาชีพ
- จำนวนพนักงานสำหรับกะเย็นหรือกะดึกไม่น้อยจนทำให้เสี่ยงอันตรายใช่หรือเปล่า ?
เบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางติดต่อฉุกเฉินที่ควรรู้ไว้
- สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ 191
- โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669
- คนที่จะสามารถประสานงานต่อพาความช่วยเหลือมาหาเราได้รวดเร็ว เช่น คนข้างบ้านที่ตั้งสติได้เร็วรู้ว่าควรทำอะไร สมาชิกในบ้านที่จะไม่ตกใจจนทำอะไรไม่ได้
- กลุ่ม Line หรือ chat ที่มักจะมีคนเข้ามาอ่านและตอบได้เสมอ
- พยายามอย่าให้แบตมือถือหมดหรือเก็บแบตสำรองไว้ในที่ที่หยิบใช้ง่าย
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ โจรหรือมิจฉาชีพมาปล้น/ขโมยจริงๆ
- ตั้งสติ อย่ากระโตกกระตาก หรือ หุนหันพลันแล่นทำอะไรโดยไม่ทันได้ไตร่ตรอง
- หลีกเลี่ยงการสบตาหรือจ้องตากับผู้ร้าย แต่ให้พยายามสังเกตรายละเอียด จุดเด่น เพื่ออธิบายกับตำรวจ สีผิว รูปร่าง ส่วนสูง น้ำหนัก การแต่งกาย ลายสัก หรือเอกลักษณ์อื่น ๆ รวมทั้งอาวุธที่ใช้
- กดสัญญาณเตือนภัย หรือ ส่งสัญญาณแจ้งบุคคลภายนอกให้มาช่วยเหลือ สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่เป็นที่สังเกตของโจรและมิจฉาชีพ พร้อมทั้งมีทางหนีเตรียมไว้
- หากโจรหนีไปได้ ให้สังเกตลักษณะยานพาหนะ ทิศทาง หรือ พยายามถ่ายรูปเก็บไว้
- ติดต่อตำรวจ หรือ หน่วยพยาบาลทันทีที่ทำได้ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากมีผู้บาดเจ็บ
- พยายามรักษาสภาพที่เกิดเหตุไว้ หากมีลูกค้าเป็นประจักษ์พยานได้ ขอให้ลูกค้าช่วยอยู่ให้ปากคำก่อน หรือพยายามเรียบเรียงบันทึกทุกอย่างไว้กันลืม
- พยายามปรับปรุงระบบความปลอดภัย แก้ไขให้ปลอดภัยขึ้นกว่าเดิม ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ
ความปลอดภัยและความรู้สึกอุ่นใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเภสัชกรสามารถปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันได้อย่างสบายใจ
การรับมือกับความกังวลและความกลัวที่ดีไม่ใช่การบอกว่ามันจะไม่เกิดหรือไม่มีทางเกิด แต่คือการคิดว่าถ้ามันเกิดจะเป็นอย่างไรและวางแผนในการรับมือเตรียมไว้
ยิ่งเรามีแผนในการรับมือและอุปกรณ์ที่เตรียมไว้มากเท่าไหร่ เราจะสามารถจัดการกับความกลัวและกังวลได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี ThaiYPGrow x CommuniTry
——
ติดตามบทความเภสัชกร
#พัฒนาตนเอง #พัฒนางาน #พัฒนาคน ได้ทางเพจ twitter @thaiypgrow และเว็บไซต์ www.thaiypgrow.com
.
สนใจส่งบทความมาแบ่งปันเรื่องราวความรู้ดีๆสู่เภสัชกร ตามความถนัดและความสนใจ ขอรับ guideline การเขียนบทความได้ทาง
– Inbox page: Thai YPGrow
– Email: thaiypgrow@gmail.com
– หรือส่งร่างไอเดียหรือบทความมาพัฒนาร่วมกัน ผ่านปุ่ม “แบ่งปันเรื่องราว” บนเว็บไซต์ www.thaiypgrow.com
——