หลักในการควบคุมการระบาด
1.การควบคุมแหล่งโรค (Controlling the source) เช่น
- กำจัดแหล่งแพร่เชื้อ (remove source)
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับแหล่งแพร่เชื้อ (remove person from exposure)
- การคัดแยกและรักษา (isolation and treatment)
2. การตัดการถ่ายทอดโรค (interrupting transmission) เช่น
- ทำให้สิ่งแวดล้อมนั้นปราศจากเชื้อ (sterilize environment)
- ควบคุมพาหะหรือการแพร่กระจาย (control vector)
- เพิ่มสุขอนามัยส่วนบุคคล (improve personal sanitation)
3.การป้องกันกลุ่มเสี่ยง (Protecting susceptible group) เช่น
- การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนหรือให้ยา (vaccine or prophylactic Rx)
——————–
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดนั้น ๆ
- โรคนั้นมีสัญญาณและอาการแสดงเป็นอย่างไร
- ระยะฟักตัว (incubation period) จนแสดงอาการนานเพียงใด
- โรคนั้นแพร่ได้อย่างไร (transmission) ทางตรง หรือ ทางอ้อม
- แหล่งแพร่เชื้ออยู่ที่ไหน (source) มีรังโรค (reservior) ไหม
- source คือ แหล่งแพร่เชื้อที่เมื่อใกล้ชิดหรือสัมผัสก็ติดโรคได้ทันที
- reservoir คือ เป็นแหล่งที่เชื้ออาศัยอยู่ เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้
- ปัจจัยเสี่ยงของบุคคลคืออะไร (risk factor) คืออะไร ?
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของการระบาดและโรคนั้น ๆ แล้ว จะทำให้เราสามารถคัดกรอง จำแนกและให้คำแนะนำได้เหมาะสมกับกลุ่มคนนั้น ๆ
——————–
การแบ่งกลุ่มคนตามความเสี่ยง
นิยามของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยยืนยัน (confirmed cases)
- ผู้ป่วยเข้าข่าย (probable cases)
- ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patients under investigated: PUI)
- ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ (Asymptomatic infection)
นิยามของผู้สัมผัสใกล้ชิด (Closed contact)
- ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
- ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
——————–
การปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่ทราบหรือสงสัยว่าติดเชื้อ
Standard precautions วิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในผู้ป่วยทุกราย โดยคำนึงว่าทุกรายอาจจะมีเชื้อโรคที่ติดต่อได้ทางเลือดและสารคัดหลั่งทุกชนิด เช่น การล้างมือ การสวมเครื่องป้องกันร่างกาย (Personal Protective Equipment: PPE) การดูแลอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้ป่วย การควบคุมดูแลทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างสุขนิสัยในการไอ (respiratory hygeine/cough etiquette)
มาตรการการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยที่ทราบหรือสงสัยว่าติดเชื้อ ตามลักษณะการแพร่กระจายของเชื้อ
1. Contact precautions: วิธีป้องกันเชื้อโรคที่ติดต่อโดยการสัมผัส ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น rotavirus แผลติดเชื้อ ตาแดงจากไวรัส SARS หิดและเหา การป้องกันทำได้โดยการสวมถุงมือและเสื้อคลุม เมื่อต้องสัมผัสร่างกาย สารคัดหลั่ง หรือสิ่งของผู้ป่วย ทำความสะอาดทำลายเชื้อบนวัสดุอุปกรณ์ก่อนนำมาใช้
2. Droplet precautions: การป้องกันเชื้อที่แพร่กระจายทางละอองเสมหะ การสัมผัสเยื่อบุ ตา ปาก จมูก การป้องกันที่สำคัญได้แก่ การสวมผ้าปิดปาก/จมูก ชนิด surgical mask เมื่อเข้าใกล้ผู้ป่วยในระยะ 3 ฟุต
3.Airborne precaution: เป็นวิธีการป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก แพร่ตามลมและอากาศ เช่น TB, measles, SARS การป้องกันที่สำคัญ คือ การสวมผ้าปิดปาก/จมูกที่มีคุณสมบัติกรองเชื้อโรคได้ เมื่อต้องเข้าใกล้หรือเข้าไปในห้องผู้ป่วย เช่น N95
——————–
การควบคุมโรค
การทำให้การแพร่ระบาดของโรคหยุดลง ช้าลง หรือ อยู่ในเขตจำกัด (Disease containment)
ระดับบุคคล
- แยกกักผู้มีอาการป่วย (isolation of symptomatic persons)
- การกักกันผู้ติดเชื้อ (quarantine of exposed person)
- การจัดการผู้สัมผัส (management of contacts)
ระดับกลุ่มคนหรือชุมชนที่อาจสัมผัสโรค
เช่น ผู้ที่อาจรับเชื้อจากบุคคลในครอบครัว กลุ่มคนที่มาชุมนุมกัน ผู้โดยสารบนขนส่งสาธารณะ ที่เรียนหรือที่ทำงาน สถานพยาบาล ที่มีผู้ติดเชื้อ
- การแยกตัวอยู่กับบ้านโดยสมัครใจ
- การปิดอาคารสถานที่ ห้างสรรพสินค้า ระงับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ งดการแสดงหรือแข่งขันกีฬา ปิดสระว่ายน้ำหรือสถานที่ออกกำลัง
- การจำกัดการเดินทาง รวมทั้งการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ (Cordon sanitaire) เพื่อป้องกันคนจากเขตโรคระบาดเดินทางไปส่วนอื่นของประเทศ
การป้องกันเป็นกลุ่ม (mass prophylaxis)
โดยให้ยาในกลุ่มเสี่ยง หรือ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันเป็นกลุ่มรอบศูนย์กลางที่มีการระบาด (ring immunization)
การให้ความรู้ต่อชุมชน (public education)
- เน้นความสำคัญของการล้างมือ
- ให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อและทำความสะอาด
- สนับสนุนให้พักอยู่กับบ้านเมื่อมีอาการป่วย
- สนับสนุนให้ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่ชุมนุมชน
- เน้นความสำคัญของวิธีการป้องกันโรคที่ดี เช่น การจามใส่กระดาษ หรือ ข้อพับแขน การล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งปนเปื้อน
- สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน กระจายข่าวสารให้ชุมชนรับรู้เป็นระยะ ลดความตื่นตระหนก
——————-
การกักกันตามระดับความเสี่ยง
การกักกัน (quarantine)
เป็นการจำกัดการเดินทางของผู้สัมผัสโรคจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีการป่วยเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะส่งผลต่อมนุษยธรรมและกระทบต่อเศรษฐกิจ

—————————–
การสื่อสารการระบาด (outbreak communication)
เมื่อมีความเข้าใจโรคระบาด การจำแนกความเสี่ยงของบุคคล และมาตรการสำหรับคนในแต่ละระดับความเสี่ยงเพื่อการควบคุมการระบาดแล้ว ทำให้เราสามารถส่งต่อผู้ป่วยได้ทันท่วงที สามารถเลือกข้อมูลที่จะสื่อสารได้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบท
การสื่อสารการระบาดที่ดีจะทำให้เกิดการป้องกันโรคได้และลดความรุนแรงของโรคได้ เนื่องจากในช่วงต้นประชาชนบางกลุ่มอาจยังนิ่งเฉย หากได้รับการสื่อสารข้อมูลที่เหมาะสมก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและป้องกันโรค
ในทางกลับกันหากมีประชาชนบางกลุ่มที่ตกใจและโกรธเคืองจากการสูญเสียและอาจกระจายข่าวที่บิดเบือนความจริง การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสมก็จะทำให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรค ไม่เกิดการตื่นตระหนก มีหลักการ ดังนี้
1. Trust ความเชื่อใจ สื่อสารข้อมูลด้วยความรับผิดชอบ (accountability) มีส่วนร่วม เข้าถึงและเข้าใจ (involvement) และมีความโปร่งใส (transparent)
2. การแจ้งข่าวแต่เนิ่น ๆ (announcing early) การระบาดของโรคเป็นสิ่งที่ไม่ควรปกปิด เนื้อหาข่าวสารต้องถูกต้อง ถูกเวลา เปิดเผยตรงไปตรงมา (condour) และครอบคลุมเข้าใจได้ (comprehensiveness)
3.ความโปร่งใส (transparency) ได้แก่ การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ครบถ้วน ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ประชาชนเห็นข้อมูล สามารถประเมินความเสี่ยงได้เอง และร่วมตัดสินใจในการให้ความร่วมมือในการควบคุมโรค
4.เข้าใจกลุ่มชน (the public) การสื่อสารที่ดีต้องเข้าใจความเชื่อ ความคิดเห็น และความรู้ของประชาชนต่อ โรค ภัย และความเสี่ยงต่าง ๆ ต้องเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร จะทำให้สื่อสารได้เข้าใจและเข้าถึงมากขึ้น
5.มีการวางแผน (planning) การสื่อสารต้องควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง ควรมีการวางแผนเตรียมการไว้สำหรับทุกแง่มุมของการควบคุมการระบาด
———————
ส่งท้าย
เภสัชกรอาจไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด่านแรกที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์หนึ่งที่มีโอกาสร่วมในการกำหนดนโยบายรวมถึงได้พบปะพูดคุยกับคนไข้
เรากระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในโรงพยาบาล โรงงาน หรือใกล้ชิดกับชุมชน การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถคัดกรองและส่งต่อได้อย่างเหมาะสม จะช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคได้ดีและมีประสิทธิภาพและเราจะผ่านวิกฤตโรคระบาดกันไปได้ไว
——————–
ข้อมูลสำหรับ Covid-19
- นำไป Print แปะ นำไปแชร์
- Infographic สำหรับการสื่อสารและให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 (คลิก)
- นำไปใช้สื่อสารกับลูกค้า คนไข้ คนใกล้ตัว
- คำแนะนำสำหรับประชาชน นำไปใช้สื่อสารกับลูกค้าและคนไข้ อัปเดตตลอด โดยกรมควบคุมโรค (คลิก)
———————
เอกสารอ้างอิง:
1. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) กรมควบคุมโรคติดต่อ. แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคไวรัสโคโรนา 19 _version 12 ก.พ. 2563. Retrieved Mar 11, 2020, from http://www.mtcouncil.org/site/content/attach/2825/G35%2012-5-2563.pdf
2. Siegel JD, Rhinehart E, Jackson M, Chiarello L, and the Healthcare Infection Control Practices Advisory Committee, 2007 Guideline for Isolation Precautions: Preventing Transmission of Infectious Agents in Healthcare Settings (last update July 2019). Retrieved Mar 11, 2020 , from https://www.cdc.gov/infectioncontrol/pdf/guidelines/isolation-guidelines-H.pdf
3. สำนักระบาด กระทรวงสาธารณสุข. มาตรฐานสำนักระบาด retrieved Mar 11, 2020, from http://www.boe.moph.go.th/files/report/20100902_54062092.pdf