ด้วยความสงสัยและอยากให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพประชาชน เภสัชกรรุ่นใหม่หนึ่งคนได้ลุกขึ้นมาใช้พลังและความสามารถเท่าที่มีบวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน สร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้วยกระแส #TheMaskChallenge
ThaiYPGrow ได้มีโอกาสพูดคุยกับเภสัชกรรุ่นใหม่คนนี้ ที่มีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นนางสาวไทย ประจำปี 2562 และเป็นเจ้าของมงกุฎ Miss international 2019 บิ๊นท์ ภญ.สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
#TheMaskChallenge
Challenge นี้เกิดจากการทิ่บิ๊นท์ไปทานข้าวกับเพื่อนในช่วงที่มีสถานการณ์ฝุ่นและไวรัส ช่วงตอนนั้นเราเริ่มเห็นชาวต่างชาติที่เดินช็อปปิ้งเริ่มใส่มาสก์ แต่คนไทยไม่มีใครใส่เลย หรือใส่แต่ก็ห้อยไว้หรือเปิดมาสก์คุยกันเป็นเรื่องปกติ ทำให้คิดว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างไหมกับเรื่องนี้
บิ๊นท์มีความรู้สึกว่าถ้าเป็นข้อมูลที่มาจากทางการแพทย์หรือฝ่ายวิชาการ คนจะรู้สึกว่าจริงจัง ซึ่งบทบาทในเวลานี้ของเราที่เป็นนางงาม มันมีภาพของความผ่อนคลายลงมาหน่อย เพราะคนจะติดตามหรือรับรู้นางงามในรูปแบบของความเพลิดเพลินและความบันเทิงซึ่งน่าจะเข้าถึงคนได้ จึงเป็นที่มาของ #TheMaskChallenge
บิ๊นท์รู้สึกว่า ต่อให้ไม่ติด trend เป็นไวรัล แต่ถ้ามันทำให้คนแค่หนึ่งคนหันมาสนใจ ระมัดระวัง หรือตื่นตัวกับเรื่องนี้ได้ มันก็ดีแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ที่มีทั้งฝุ่นและไวรัส มาสก์สำหรับบิ๊นท์ มันคือ ความสะอาด การรู้จักดูแลตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคม
เรามองให้มาสก์เป็นเทรนด์ หรือแฟชั่นยังได้เลยนะ เพราะความหมายแฝงของการใส่มาสก์คือ คุณแคร์โลก แคร์ตัวเอง แคร์คนรอบข้าง เราว่ามันเท่มากที่ เวลาข่าวออกว่า มีคนแจกมาสก์ให้กับคนที่เดินผ่านไปมา เห็นแล้วเพลง heal the world ลอยมาเลย


ยังตัวเล็ก ๆ แบบเดิม แต่เพิ่มเติมคือความกล้าที่จะทำ
“บิ๊นท์ว่าการได้ผ่านเวทีประกวดมันทำให้เรารู้สึกว่าคนตัวเล็ก ๆ คนธรรมดา ๆ สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เราเคยคิด”
จริง ๆ บิ๊นท์เป็นคนที่มีความคิดอะไรประมาณนี้มานานแล้ว คือ ความรู้สึกที่ชอบสังเกตและอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากวางระบบ Think big อยากให้สังคมดี แต่เมื่อก่อนมันจะมีความคิดว่าเราตัวเล็กมาก ทำแล้วใครจะมาทำตาม มันดูเป็นเรื่องไกลตัว เราคิดว่าเราเป็นเซเลบเหรอถึงจะมาทำแบบนี้ ก็ได้แต่สังเกตแล้วก็คิด ๆ มาตลอดแต่ไม่ได้ทำ เรารู้สึกว่าทำไปมันไม่ได้ส่งผลในวงกว้าง ตัวเล็กก็คิดเล็ก ทำได้แค่เตือนคนรอบข้าง
จนมาถึงตอนนี้บิ๊นท์ก็ยังรู้สึกว่าเราก็ยังเป็นคนธรรมดา มันเป็นแค่การ assign เราว่าเราเป็นนางงามระดับโลก แต่ภายในเราไม่ได้ยอมรับว่าเราเป็นระดับโลกขนาดนั้น ภายในเราก็ยังเป็นคนตัวเล็ก ๆ ธรรมดาเหมือนเดิม กินข้าวกับที่บ้านประจำอยู่เหมือนเดิม
เราเลยกลับมาคิด อยากบอกกับตัวเองในสมัยก่อนว่า ถ้าภายในเราเหมือนเดิมแล้วเราทำได้ ทำไมตอนนั้นที่เราไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแล้วเราจะทำไม่ได้
ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ตามกำลัง ไม่ต้องคิดว่ามันต้องยิ่งใหญ่ ตัวเล็ก ๆ เสียงเล็ก ๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงหรืออย่างน้อยก็สามารถส่งเสียงบอกอะไรบางอย่างกับสังคมได้


Social Movement คือสิ่งที่สนใจและคิดว่าในประเทศไทยยังขาด
บิ๊นท์มีความตั้งใจว่าช่วงเวลาที่เราอยู่ในตำแหน่งนางงาม เป้าหมายหลักเราอยากจะผลักดัน Social Movement ไม่ใช่แค่กับบิ๊นท์ แต่อยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา จะเป็น influencer ที่มีคนตามเป็นล้าน บิ๊นท์ว่าเราเป็นคนเหมือนกัน อย่าง #TheMaskChallenge นี่ทุกคนทำได้ใคร ๆ ก็ทำได้
ถ้าแต่ละคนได้ใช้พลังที่ตัวเองมี มาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไปยังทิศทางที่ดี มันน่าจะดีน่าดู มันไม่ได้หมายความว่าการทำ ทำแล้วมันจะต้องเกิดผลลัพธ์ใหญ่โตหรือเกิดทันที แต่การที่เรา voice เป็นเสียงเล็ก ๆ ที่สะท้อนออกมา มันอาจจะช่วยส่งสัญญาณให้ได้เจอกับคนที่คิดเหมือนกัน รู้สึกเหมือนกัน มันอาจจะไปอยู่ในการรับรู้ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนนึงที่ในอนาคตเขาจะมาเป็นผู้นำก็ได้
การหยิบยกมาพูดถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่เส้นทางของการแก้ไข
บิ๊นท์ว่าปัญหาเล็ก ๆ ปัญหาในชีวิตประจำวันมันมีเยอะ แต่มันไม่เกิด movement ในสังคม เพราะไม่ได้มีการพูดถึง เราไม่เห็นในข่าว ในสื่อ หรือ กระทั่งอินเทอร์เน็ต “หมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วเอาไปป้ายอยู่ตามเบาะบนรถเมล์ ทำไมถึงเป็นแบบนี้นะ เราพอจะมีวิธีแก้ไขยังไงได้ไหมคะ” บางทีมันอาจจะเป็นการเริ่มบทสนทนา แล้วคนก็มีคนมาเสนอไอเดีย คุยกัน แล้ววันนึงก็มีคนไปลองทำ
“Voice ที่ส่งเสียงออกมา แค่เราสะกิดเรียกคนคนนึงได้ มันก็สำเร็จแล้ว สิ่งที่พูดคุยกันวันนี้วันหนึ่งมันอาจจะบ่มเพาะให้คนเกิดความกล้า มี leader คนใหม่ หรือไปอยู่ในความสนใจของคนสำคัญของโลกก็ได้
ถ้าได้พูดมันก็มีโอกาส 50-50 ที่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เกิด แต่ถ้ามันเกิดมันเป็นเสียงที่คุณอยากบอก แม้มันจะกระจายอยู่ในวงเล็ก ๆ ก็ตาม แต่มันก็กระจายไม่ใช่เหรอ”
ปัจจุบันเราก็มี influencer อยู่เยอะ คนที่ดังกว่าบิ๊นท์มีมากเลย คนตามเป็นล้าน ๆ แต่ละคนเขาก็มี value หรือสิ่งที่เขาพร้อมผลักดันสนับสนุนอยู่ ใครมีเรื่องอะไรก็อยากให้ลองติดต่อไป ช่วย ๆ กัน

Value ของ ภญ.บิ๊นท์ สิรีธร Miss International 2019
สำหรับบิ๊นท์ในเวลานี้ มี 3 เรื่องที่บิ๊นท์โฟกัส
- การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีพลังและก้าวตามความฝัน
- การสนับสนุนให้เด็ก ๆ ยุคใหม่ได้ทำตามความฝันและความถนัดที่ตัวเองมี
- การเป็นกระบอกเสียงให้กับวงการสาธารณสุขทำให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายเข้าถึงประชาชนได้

1. สนับสนุนผู้หญิงให้มี “พลังที่เชื่อมั่นในตัวเอง”
ด้วยเส้นทางของบิ๊นท์กว่าจะมาเป็นนางงามมันเล่าเรื่องราวตรงนี้ได้ บิ๊นท์เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ธรรมดา เป็นเภสัชกรที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง หรือ เวทีประกวดมาก่อนเลย แต่เรามีความเชื่อ กล้าที่จะเดินจากกรอบ บิ๊นท์ทำได้ผู้หญิงทุกคนก็ทำได้ เราสนับสนุนพลังจากภายใน การรู้ว่าเราทำอะไรได้ มี potential อะไร และผู้หญิงก็สามารถเป็น Leader ได้นะ
การจัดการกับเสียงที่ลดทอนพลัง
สำหรับบิ๊นท์วิธีที่ใช้ คือ การแยกก่อนว่ามันเป็นคำพูดที่เอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตัวเราได้ไหม หรือมันเป็นคำพูดที่ไม่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาได้เลย
ถ้าคำพูดเหล่านั้นมัน มีแต่ความเป็นลบ เราก็ต้องบอกตัวเองให้ได้ว่าเราไม่ใช่ถังขยะที่รองรับเศษขยะหรืออาหารที่โยนมา บิ๊นท์เคยโดนด่าเช่น หน้าเหมือนหมาเลย แต่เราไม่ได้โกรธอะไรนะ เราแค่มองว่ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเรา มันเป็นความคิดเห็นคน เลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราเข้ามา ถึงมันจะมีความลบติดมาด้วย แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่สามารถมาเปลี่ยนให้ความคิดเราเป็นลบได้
ส่วนคำพูดที่เขาบอกมาแล้วเราเอาไปพัฒนาได้ เราจะลิสต์จดไว้เป็นข้อ ๆ เลย ว่าจะทำอย่างนี้ ๆ ให้ดีขึ้น เอาไปฝึกฝน เรามองว่า ที่เขาพูดเพราะเขาเป็นห่วงเรา อย่างตอนประกวดคือ “เขาอยากได้ตัวแทนที่ดีที่สุด”
เราก็จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นแล้ววันหนึ่งเขาจะเห็น แต่อย่ากดดันตัวเองเกินว่าเราต้องทำทุกอย่างได้ดี 100% ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป
ธรรมชาติของคนไม่มีใครสมบูรณ์ 100% แต่การที่เรามีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองจากคำพูดเหล่านี้ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตมนุษย์แล้ว คือ “ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง”

2.สนับสนุนให้เด็กยุคใหม่ได้ “ทำตามความฝันและความถนัด”
เด็กยุคใหม่ Gen alpha เขาอยู่บนโลกออนไลน์ เขามีข้อมูลเยอะ เขารู้ว่าเขาทำอะไรได้บ้าง บางที Gen Y Gen Z เราอาจจะไม่เข้าใจ บิ๊นท์อยากสนับสนุนให้เด็กเชื่อมั่นในตัวเองและสามารถดิสคัสกับพ่อแม่ได้ว่า เหตุผลอะไร เขาถึงอยากทำสิ่งนี้ อยากให้เขาได้ลองในสิ่งที่เขาอยากทำ และได้รับการซัพพอร์ตจากพ่อแม่ คนรอบข้าง ได้ทำตามสิ่งที่เขาฝัน ถนัดและสนใจ
Discuss ไม่ใช่การเถียงหรือไม่พูดอะไรเลย
การดิสคัสสำหรับบิ๊นท์มันคือการคุยกันโดยไม่ใช้อารมณ์ มีการวางแผนที่ตั้งใจจะเข้าไปคุย มีข้อมูลและการเตรียมตัวล่วงหน้า แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าต้องได้ต้องสำเร็จแต่เป็นการคุยเพื่อปรึกษาหารือกัน และเปิดใจต่อผลลัพธ์ว่ามันไม่ใช่ว่าเราต้องได้เสมอไป
ตอนบิ๊นท์ทำงานครบหนึ่งปี เราก็มาถามตัวเองว่าเรามีความฝันอะไรที่อยากทำอีก เราอาจจะมีเป้าหมายระยะสั้นที่เราใช้ชีวิต แต่ระยะไกล ๆ มันคืออะไรบ้าง หนึ่งในนั้น คือ การประกวดนางงาม
บ้านบิ๊นท์วันอาทิตย์ที่กินข้าวกันก็จะเป็นเวลาของการดิสคัสกัน คุยกันบนโต๊ะอาหาร อย่างเรื่องนางงาม ก่อนประกวดนางงาม เราก็คิดหาข้อมูล แล้วก็บอกป๊าแม่ว่าอยากเป็นนางงามนะ พอเราคุยว่านี่เป็นความฝันของเรา เรามีแผนการอย่างไร จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แล้วก็ใช้คำถามปลายเปิดคุยกันตลอดว่าเขารู้สึกยังไงหรือคิดยังไงบ้าง ที่บ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร
การวางแผนและเตรียมตัวเพื่อที่จะคุยคือสิ่งสำคัญ
การที่เราได้เตรียมตัวหาข้อมูลก่อน วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะไปคุยตอนไหนมันทำให้ตอนที่คุยจริงเรามีข้อมูลแล้วก็ไม่ได้ใช้อารมณ์ เตรียมข้อมูลไปว่าเราอยากทำอันนี้ เพราะอะไร ค่าใช้จ่ายคือเท่าไหร่ แพลนไปไกลแค่ไหน ข้อดีข้อเสียคืออะไร เพราะเขาถามเราอยู่แล้ว
สิ่งที่เราคุยกับพ่อแม่คือการคุยว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง เขาอยากรู้ว่าอนาคตเราจะเป็นยังไงเราพูดไปว่าเราวางแผนยาวนะ ความฝันเราไม่ใช่แค่อยากเป็นแล้วจบ อนาคตเราจะมีงานทำเป็นอย่างไร เราจะไปทางไหนได้บ้าง
ถ้าเด็กคนนึงยืนต่อหน้าเรา แล้วพูดถึงอนาคตได้ละเอียด ชัดเจนมีข้อมูล มันน่าฟังมากเลยนะ พ่อแม่ก็จะรู้สึกว่า เด็กคิดถึงอนาคต ไม่ได้คิดแค่ว่าอยากแล้วก็จบ
คำว่า “อยาก” มันไม่พอสำหรับผู้ใหญ่ คุยกันด้วยเหตุผล ตอบคำถามเขาให้ได้ ศึกษาข้อมูล วางแผนไปก่อน
หาตรงกลางให้เจอ และ เปิดใจให้กว้าง
ตรงกลางของบิ๊นท์ คือ พื้นที่ที่ไม่ได้มีอารมณ์เป็นตัวนำ เอาเหตุผลมากางแล้วคุยกัน เพราะมันจะนำไปสู่ความคิดเห็นและข้อมูลที่เอาไปคิดต่อยอดได้ แบบที่ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ใช้อารมณ์ และมันไม่ใช่การที่ใครคนใดคนหนึ่งชี้ทางว่าต้องเป็นแบบไหน
ตอนเด็กมาก ๆ แม่ก็เคยบังคับ พอเราเด็กแล้วถูกบังคับ เราจะไม่อยากทำเลย เราจะรู้สึกว่าไม่อยากทำทำไมต้องทำ แล้วมันยิ่งตอกย้ำความไม่อยาก แต่พอมันเป็นการดิสคัสคุยกันแล้ว มันกลายเป็นว่าเรายอมรับ เราเก็บความคิดเห็นเขาไปคิดตาม แล้วค่อยตัดสินใจ
อีกปัจจัยหนึ่งคือเราต้องเปิดใจให้กว้าง อย่าคิดว่าเราต้องสำเร็จอย่างเดียว อย่าคิดว่าการคุยทุกครั้งมันต้องสำเร็จ แต่มันคือการเปิดประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นและคุยกัน ให้คิดว่า 50-50 เราจะไม่รู้สึกว่าเฟล มองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องปกติว่ามีได้ ก็มีไม่ได้ กลาง ๆ ไว้ ฟังไว้เยอะ ๆ ดีกว่า เวลาที่บ้านคุยกับเรา เขาก็ 50-50 เหมือนกัน เขาก็จะให้เหตุผลของเขา ถามคำถามปลายเปิดคุยกัน แล้วก็ให้ตัดสินใจ มันเลยกลายเป็นการปรึกษากันมากกว่า ที่จะเป็นการชนะหรือแพ้
ให้เจ้าตัวเป็นคนตัดสินใจ แล้วเราคอยเป็นคนสนับสนุน
สุดท้ายพอมันเป็นอนาคตบิ๊นท์ บิ๊นท์ก็ตัดสินใจเองนะ เราเลือกเอง พอเราเลือกเองแล้วเราก็ยอมรับ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันเลยหลังจากนั้น ไม่ได้มีเรียกร้องอะไรกันต่อ
เส้นทางที่ดีสำหรับลูกที่เราคิด อาจจะไม่ได้ดีสำหรับลูกก็ได้ เมื่อพ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้นว่าเขาอยากทำอะไรก็ให้ไปทางนั้น แล้วเราคอยเคียงข้างไม่ให้มันผิดพลาดมากไปหรือออกนอกกรอบไปทำสิ่งไม่ดีเกินไป ประคับประคองโดยให้เขาล้มบ้าง แต่มันก็เป็นเส้นทางที่เขาเลือก เขามีความสุขใน career path ที่ตัวเองเลือก ต่อให้ล้มหรือเจ็บก็ยังลุกขึ้นมาได้
ล้มเหลว คือ ความธรรมดา
ไม่ว่าทางเลือกที่เขาเลือกหรือเส้นทางที่พ่อแม่มองว่ามันจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ มันก็มีหนามเหมือนกัน การเฟลไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ลูกจะได้โตขึ้น จะได้รู้ว่าสิ่งที่ลูกคิดมาตลอดวางแพลนมาอย่างสวยงาม มันไม่ได้ง่าย โลกจะสอนเขา สิ่งที่เขาได้อาจจะไม่ใช่การประสบความสำเร็จ แต่คือทักษะชีวิต การล้มเหลวจะทำให้เขาโตขึ้น
ถ้าเราบอกกับน้อง ๆ ก็จะบอกให้น้อง ๆ รู้ว่าเส้นทางข้างหน้าที่เราเลือกเอง อยากให้รู้ว่ามันไม่ง่าย อาจจะสมหวังหรือผิดหวังก็ได้
ให้เราคิดต่อไว้ล่วงหน้าเลยว่าถ้าเฟลจะทำอะไรต่อ อยากให้รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา การล้มลงหรือจะตะกุกตะกักบ้างเป็นเรื่องปกติของชีวิต ไม่ต้องคิดมาก มันคือชีวิตคน

3. การเป็นกระบอกเสียงให้กับวงการสาธารณสุขให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายเข้าถึงประชาชน
สำหรับบิ๊นท์รู้สึกว่าคนในวงการสาธารณสุขบ้านเราเก่งและเชื่อว่าเก่งระดับแนวหน้าของโลกก็มีแต่บางครั้งทำไมคนทั่วไปถึงไม่ได้รับข่าวสาร เช่น พารากินกี่เม็ด คนก็ยังเคยชินกับการกิน 2 เม็ด คือเขารู้ แต่เป็นความรู้ที่ไม่ได้อัปเดต ทั้งที่โลกออนไลน์และข่าวก็มีการให้ความรู้กันเยอะมาก
คิดว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะคนทั่วไปยังไม่พร้อมจะมานั่งอ่านความรู้ คนทั่ว ๆ ไปอยากดูอะไรที่คลายเครียด ถ้าบิ๊นท์สามารถถ้าทำรายการหรือพูดสื่อสารออกไปในแบบที่ไม่ซีเรียสมาก คนทั่วไปน่าจะรับรู้ได้มากกว่า เราพอมีฐานคนที่รู้จักเรา และการเป็นนางงามทำให้ภาพลักษณ์นักวิชาการน้อยลงหนึ่งระดับ เราน่าจะเป็นกระบอกเสียงที่สื่อสารกับประชาชนได้มากขึ้น เข้าถึงคนได้ดีขึ้น คนนี้เราติดตามอยู่ เอ้า! ดูหน่อยแล้วกัน
ความรู้ที่ไม่อัปเดต
“อย่าเพิ่งเชื่อว่าความรู้ที่เรารู้มันถูก ก่อนจะตรวจสอบ” บิ๊นท์เองก่อนจะสื่อสารอะไรมักจะถาม expert opinion ก่อน ถามอาจารย์ หรือ เว็บไซต์ที่เป็นทางการอัปเดตว่าตอนนี้เป็นยังไง ซึ่งการให้ข้อมูลที่อัปเดตอาจจะยังไม่ใช่ที่สุด ก็ต้องดูความเหมาะสมตามบริบทด้วย เช่น ไกด์ไลน์บ้านเราอาจจะไม่ได้อัปเดตตามระดับโลกที่สุด แต่มันก็เหมาะกับประเทศไทยในเวลานี้ ดังนั้นเราจะตอบในสิ่งที่อัปเดตและยังคงเหมาะสมได้ ก็ต่อเมื่อเราถามคนที่เขาอยู่ในสาขานั้น ๆ เขาจะมีความรู้เรื่องนั้นเยอะจริงๆ เขาน่าจะให้คำตอบหรือชี้ประเด็นให้เรานำไปสื่อสารได้ดีกว่า
เรียนรู้จากคำถาม
ช่วงนี้บิ๊นท์เองก็อาจจะไม่ได้มีเวลามานั่งอ่านเองมากนัก แต่เราจะใช้วิธีเรียนรู้จากคำถามในหัว แล้วปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เราไม่แน่ใจอะไรเราก็จะถาม โดยใช้ “คำถามปลายเปิด” สำหรับเรื่องนี้ตอนนี้เป็นยังไงบ้างคะ แล้วที่เราเคยรู้มาแบบนี้มันไม่ใช่แล้วเหรอ คำถามที่สำคัญ คือ เราจะไปถามใคร และ ถามว่าอะไร
“คำถามปลายเปิด” สำคัญต่อชีวิต
บิ๊นท์เป็นคนชอบความคิดเห็นคน คำถามปลายเปิดสำคัญกับชีวิตบิ๊นท์มาก ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นอย่างไร อัปเดตเป็นอย่างไรคะ เราจะถามให้กว้างที่สุด ถ้าเราเป็นคนที่รับฟัง การใช้คำถามปลายเปิดจะทำให้เขาตอบเราได้กว้างกว่า และเขาได้บอกอะไรที่เขาอยากจะบอก มันทำให้เราเห็นได้หลายมิติ
คนที่เขามีความรู้เขาสามารถเล่าไปได้เรื่อย ๆ และจะชี้จุดสำคัญ ๆ ซึ่งระหว่างการถามว่า “เรื่องนี้ที่เป็นแบบนี้ มันอัปเดตแล้วใช่ไหมคะ” เราจะได้คำตอบแค่ว่า “ใช่” อัปเดตแล้วเป็นแบบนี้แบบนี้ ต่างกับการถามว่า “Guideline ฉบับนี้มันเป็นยังไงบ้างเหรอคะ” เขาจะเล่าได้มากกว่าในประเด็นที่สำคัญๆ เล่าว่ามีการเพิ่มเติมใน special population เป็นแบบนี้นะ มีจุดที่ต่างไป งานวิจัยที่เพิ่มเข้ามาเป็นแบบนี้
“คำถามปลายเปิดสำคัญกับชีวิตบิ๊นท์มาก เราจะถามให้กว้างที่สุด
ถ้าเราเป็นคนที่รับฟัง การใช้คำถามปลายเปิดจะทำให้เขาตอบเราได้กว้างกว่า และได้บอกอะไรที่เขาอยากจะบอกเรา มันทำให้เราเห็นได้หลายมิติ”
คำถามปลายเปิดในฐานะเภสัชกรรุ่นใหม่
บทบาทของเภสัชรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไรต่อ?
“สำหรับบิ๊นท์มองว่าเภสัชรุ่นใหม่จะเป็นคนที่รู้ในหลาย ๆ ศาสตร์ หลาย ๆ ด้าน มีทักษะในหลาย ๆ มิติ แล้วเอามาประกอบกับความรู้ความเข้าใจทางเภสัช เพื่อไปยังเป้าหมาย
วิธีทางไป มันอาจจะไปได้หลายทาง รูปแบบของการทำงานมันอาจจะไม่ได้เหมือนแบบเดิมมากนัก เพราะมันมีการพัฒนา ยุคสมัยมันมีอะไรเปลี่ยนไปมาก แต่หัวใจของเภสัชมันยังเหมือนเดิม
(ร้องเพลง) “ล้วนตั้งใจเมื่อได้ร่วมใจร่วมนโยบาย หมายมั่นในสวัสดิภาพของปวงประชา ผองโรคภัยขจัดออกไปอย่าให้มาบีฑา แม้ประชาไกลห่างโรคาพวกเราพอใจ” ช่วยกันคนละไม้ละมือด้วยความตั้งใจ จากจุดต่าง ๆ ในสังคม คำว่าเภสัช มันก็ยังคงเป็นมงคลนามอยู่เสมอ
1 คำถามปลายเปิด ที่อยากจะฝากไว้ให้กับคนที่กำลังอ่าน
บิ๊นท์ยังอยากถามทุกคนเหมือนเดิมว่า
“ความฝันในชีวิตทุกคนคืออะไรคะ ?”
———
“ความฝันในชีวิตทุกคนคืออะไร ?”มันคงไม่ใช่คำถามที่พาเราไปเจอคำตอบหรือจุดสิ้นสุด แต่อาจจะเป็นสิ่งที่พาเราไปยังจุดเริ่มต้นของการเดินทาง อย่างที่ ภญ.สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ กำลังเดินทางบนเส้นทางนี้อยู่ก็เป็นได้
นี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คุยกับ ภญ.สิรีธร เราคงได้พูดคุยกันอีกในบทบาทของการเป็นตัวแทนเภสัชกรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ
“ยินดีค่ะ ขอฝากตัวไว้กับ ThaiYPgrow ด้วยนะคะ และรออ่านเรื่องราวดีดีจากทุกคนอยู่ค่ะ”
ภญ.บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
Miss international 2019 นางสาวไทย และ เภสัชกรรุ่นใหม่ ปิดท้าย
———
ร่วมทำภารกิจไปกับบิ๊นท์ โพสรูปตัวเองสวมหน้ากากอนามัยยี่ห้อใดก็ได้ ด้วยแอตติจูดความเป็นคนยุคใหม่ พร้อมใส่ hashtag ผ่าน Fb , Ig, twitter
#themaskchallenge #challengeของบิ๊นท์ #bintchallenge
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม #themaskchallenge ได้ทาง
Youtube Channel: BINTO MISS INTERNATIONAL 2019
——————————
ขอขอบคุณ: ภญ.สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ สำหรับการสัมภาษณ์