จบเภสัชแล้วจะทำงานสายไหนดี จะเปลี่ยนงานที่ทำอยู่ดีไหม? 5 เทคนิคช่วยตัดสินใจเลือกเส้นทางในชีวิต

     


ถ้าชีวิตคือการประกอบกันของการตัดสินใจนับแสนนับล้านครั้ง หนึ่งในการตัดสินใจที่ยากเสมอและไม่เคยจะมีความมั่นใจในทางที่เลือกเลย คือ “การตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพ” จะทำงานเภสัชสายไหนดี จะเปลี่ยนงานที่ทำอยู่ดีไหม ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความไม่มั่นใจ แต่เราต้องตัดสินใจเลือก เราจะเลือกอย่างไรดี 5 เทคนิคที่จะช่วยให้การตัดสินใจเลือกเส้นทางในชีวิต

#1 การบอกว่าไม่ใช่ ตัดสินใจง่ายกว่า การบอกว่าอะไรที่ใช่

เมื่อมีตัวเลือกที่ชอบหลายๆตัวเลือกให้เราเลือก มันเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าชอบอะไรมากกว่ากัน แต่ถ้าถามในทางกลับกันว่า “อะไรที่ไม่ใช่” อาจจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายกว่า และยิ่งเราตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปได้มากเท่าไหร่ เราจะเหลือตัวเลือกที่ “น่าจะใช่” เพื่อให้เราไปสำรวจเพิ่ม หรือ พิจารณาน้อยลงเท่านั้น

การมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ช่วยทำให้เราได้ประโยชน์มากขึ้นจากการตัดสินใจ เพราะเราเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายแล้วจึงเลือก แต่การมีตัวเลือกที่มากไปจะทำให้เกิดภาระของสมองในการเลือก (Cognitive overload) จนกลายเป็น “เลือกที่จะไม่เลือก” (Choose not to choose) ประกอบกับการมีตัวเลือกที่มากเกินไป จะทำให้แม้เราตัดสินใจเลือกไปแล้วก็ยังจะรู้สึกลังเล เพราะมีทางเลือกอีกหลายทางที่ไม่ได้ไป ตัวเลขที่กำลังดีจะอยู่ที่ประมาณ

“ตัดตัวเลือกออกไปบ้าง ให้อยู่ในระดับที่กำลังดี”

————————

#2 ออกแบบการทดลองเพื่อหา “ส่วนที่ใช่” มากกว่าตามหา “สิ่งที่ใช่”

การใช้แค่ความเชื่อหรือพิจารณาด้วยการ “คิด” อย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้เรามั่นใจในการตัดสินใจเท่าการได้ไป “ทำ”การพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์จริง ได้ลองหยิบจับสัมผัส และอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นจะทำให้เรามีข้อมูลในการตัดสินใจได้มากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถทำให้เราตั้งคำถามเพื่อพิจารณากับทางเลือกนั้นได้ดีขึ้น เพราะเราได้ใช้ประสาทสัมผัสครบกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นจริง ๆ

พยายามหาโอกาสให้เราได้ไปใกล้ชิดกับทางเลือกที่เราสนใจ หรือ ออกแบบการทดลองเล็กๆ ใช้เวลาระยะสั้นๆ เพื่อให้ได้ลองทำและปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำงานนั้น อาจจะเป็นการขอไปสังเกตการณ์และพูดคุย การขอไปช่วยงานแบบไม่คิดค่าจ้าง การไปฝึกงาน หรือการร่วมงานกันแบบเป็นโปรเจกต์

ในการออกไปทดลองนั้น คำถามที่พกไปอาจไม่ใช่เพื่อการหา “สิ่งที่ใช่” แต่เป็นการไปลองทำเพื่อหา “ส่วนที่ใช่” เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้กลับมาจึงไม่ใช่คำตอบตายตัวแบบขาวหรือดำ แต่คือคำตอบว่าเรา “ชอบส่วนไหนในงานนั้น” และมี “ส่วนไหนที่ยังไม่ชอบ” และยัง “สงสัยหรือเกิดคำถามว่าอะไรต่อ” จากการได้ไปลองทำ เพราะไม่มีงานไหนที่เราจะชอบทั้ง 100% ดังนั้นงานที่เรามองหา คือ งานที่มีส่วนที่ชอบ มากกว่า ส่วนที่เราไม่ชอบ และคำตอบมันอาจจะเป็น 

“เราชอบงานนี้ 70% เพราะ … ส่วนอีก 30% ที่ยังไม่ชอบ เพราะ ….”

เพราะชีวิตจริงนอกห้องเรียนไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ได้ 100 คะแนนเต็ม สิ่งที่เราเลือกทำได้เพียงเลือกสิ่งที่ 

1. “มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย”

2. “ข้อเสียหรือสิ่งที่จะตามมา” เรารับได้ รับมือได้ หรือ จัดการพอไหว

3. “ดีที่สุดในเวลานั้น” และ “ยอมที่จะเสียหรือแลกอะไรบางอย่างกับมันไปบ้าง”

————————

#3 ถามคำถามเพื่อให้บอกเล่า (Indicative) มากกว่า ให้เขาทำนาย (Predictive)

เวลาที่เราขอคำปรึกษาจากใครสักคน แนวทางอาจไม่ใช่การถามคำถามให้เขาต้องตัดสินใจแทนเรา หรือ ทำนาย แต่ให้ถามคำถามให้เขาบอกเล่าสิ่งที่เขาพบเจอมา ถามประสบการณ์ที่ผ่านมา สถิติที่เขาเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็นเป็นอย่างไร อะไรคือความท้าทายของเขาในการทำงานนี้ อุปสรรคหรือสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของงานนี้คืออะไร ตามสถิติแล้วช่วงเวลาที่งานหนักมักเป็นช่วงไหน หรือถามถึงข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ของเขา เช่น ตอนที่พี่ตัดสินใจเลือกทำงานนี้ตอนนั้นพี่คิดจากอะไรบ้าง แล้วทางที่พี่ไม่ได้เลือกในตอนนั้นคืออะไร มากกว่าถามว่า ผมควรจะเลือกงานนี้ไหม หรือ พี่ว่างานนี้เหมาะกับผมไหม ?

ถ้าจะต้องมีคำถามที่เป็นการคาดการณ์ให้คุยถึง “ความน่าจะเป็น” (Probability) มากกว่า “ความเป็นไปได้” (Possibility) เพราะการคุยถึงความน่าจะเป็น เราจะสามารถสำรวจหลักฐานประกอบและเหตุผลสนับสนุนได้ เช่น พี่เชื่อว่า 80% สายงานนี้จะเติบโตไปอีกไกล เพราะเหตุผลคือ 1. 2. 3. หรือ พี่ว่าคนที่มาสมัครงานนี้ 80% จะลาออกในปีแรก เพราะ 1. 2. 3.

“เก็บหลักฐาน ชิ้นส่วนเป็นชิ้น ๆ จากการปรึกษาผู้คน

ส่วนการให้น้ำหนักของหลักฐาน ให้ความหมายและความสำคัญเป็นเรื่องของส่วนตัวของเรา”

———————-

#4 อย่ารักทางเลือกที่เราคิดไว้มาก ให้เล่นบทศัตรูขี้คัดค้านบ้าง (Play the devil’s advocate)

ในทางภาษาอังกฤษมีสำนวนที่เรียกว่า Play the devil’s advocate ถ้าแปลตรงตัวคือการสวมบทเป็นผู้สนับสนุนฝั่งปีศาจ ซึ่งแปลว่า ให้เราสลับมาสวมบทบาทเป็นคนที่คัดค้าน เป็นผู้ที่ไม่สนับสนุน และคิดต่างจากคนทั่วไปบ้าง เพื่อให้เกิดการคิดที่ละเอียดขึ้น รอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น หากเราเองเป็นปีศาจได้ไม่ดีพอ ก็อาจขอให้เพื่อนช่วยมาสวมบทเป็นปีศาจตัวนั้นให้ก็ได้

แต่สิ่งสำคัญกว่าการถามเพื่อคัดค้าน คือ การทดและจดคำถาม ข้อเสียที่พบ ความกังวล และอุปสรรคที่ปรากฎขึ้นเหล่านั้นไว้ เพื่อเอาไปทำการบ้านหาข้อมูลต่อในสิ่งที่ยังตอบได้ไม่ชัดเจน หรือเพื่อเตรียมวิธีรับมือไว้ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง การทำแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจกับทางเลือกที่กำลังพิจารณามากขึ้น เพราะถ้าสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง เราก็มีวิธีรับมือเตรียมไว้ มีข้อมูลในการแก้ไขไว้รอแล้ว

“มองหาความกังวล สิ่งที่จะตามมาที่เราคิดว่าน่าจะรับมือไม่ไหว

จดและทด เพื่อเอาไปคิดต่อว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง เราจะรับมือมันอย่างไร ทำอย่างไรต่อกับมันได้บ้าง”

———————

#5 พิจารณาทีละทางเลือกก่อน แล้วค่อยพิจารณาแบบเปรียบเทียบกัน

เมื่อเรามีข้อมูลพอสมควรแล้ว การตัดสินใจควรจะเริ่มจากการดูเหตุผลสนับสนุนและคัดค้านของ “แต่ละตัวเลือกก่อน” ว่าทางเลือกนี้ ข้อดี ข้อเสีย ข้อกังวลและการรับมือคืออะไร (Pros, Cons and Concerns/Consequences) และมองทีละมิติ เช่น มิติค่าตอบแทน มิติสวัสดิการ มิติการเรียนรู้ ความก้าวหน้าทางอาชีพ รูปแบบของงาน ลักษณะหัวหน้างาน การเดินทางไปทำงาน ชั่วโมงทำงาน โอกาสในการทำงานเสริมคู่ขนาน หรือ การศึกษาต่อ ฯลฯ 

จากนั้นจึงค่อยนำตัวเลือกที่มีมา “พิจารณาเปรียบเทียบ” กับทางเลือกอื่นว่า “ค่าเสียโอกาส (opportunity cost)” ถ้าไม่ได้เลือกตัวเลือกนั้น ๆ คืออะไร ในแต่ละมิติ เช่น ในด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ การได้สวัสดิการทางสุขภาพน้อยกว่าแต่ได้เงินเดือนต่างกัน 10,000 บาทต่อเดือน เทียบกับอีกงานที่สวัสดิการสูงกว่ามีสิทธิ์ครอบคลุมสมาชิกในครอบครัวคนอื่นด้วย แต่เงินเดือนน้อยกว่า เราแลกได้หรือไม่ หรือ เราสามารถใช้เงินเดือนที่ต่างกันนั้นซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มเติมแล้วเหมาะสมกันไหม

“คิดทีละตัวเลือก มองข้อดี ข้อเสีย สิ่งที่จะตามมาและความกังวล

จากนั้นค่อยเปรียบเทียบกันระหว่างช๊อยส์เพื่อให้เห็นความแตกต่างและค่าเสียโอกาส”

———————

Extra “ความหมายและคุณค่า” (Value and Meaning) เปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่า “ความชอบ” (Preferences)

คนเราเติบโตขึ้นทุกวัน จากประสบการณ์ที่เราไปเจอสิ่งใหม่ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ทำให้ความชอบ (Preference) ของเราเปลี่ยนแปลงได้และวูบไหวไปตามสิ่งแวดล้อมบริบท (context) เช่น ในวันที่เรายังเป็นนักศึกษาสิ่งแวดล้อมเราคืออาจารย์ เราอาจจะประทับใจอาจารย์ที่สอนวิชานี้ ทำให้เรารู้สึกสนุกที่จะอ่านวิชานี้และขะมักเขม้นในการเรียนรู้ 

แต่พอเราต้องไปอยู่ในอีกที่หนึ่งในการทำงานที่ไม่มีอาจารย์ท่านนี้แล้ว อาจจะทำให้ความสนุกหรือความชอบเขาเราลดลงไป 

เราอาจจะชอบดื่มชาไข่มุกเพราะข้างที่ทำงานมีเจ้าอร่อย เราชอบและดื่มทุกวัน แต่พอเราย้ายที่ทำงานร้านชาไข่มุกที่อยู่ใกล้ไม่อร่อย และร้านที่อร่อยที่พอจะหาได้ต้องนั่งรถไป 20 นาที ความชอบในชาไม่มุกเราก็อาจจะลดลงไป หรือ ณ เวลานั้นมีเครื่องดื่มใหม่ที่ชอบมากกว่าออกสู่ท้องตลาดแล้ว เช่น กาแฟฟองนุ่ม โกโก้หวานละมุน

แล้วอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่าความชอบ ? 

คำตอบ คือ ความหมายที่เกิดขึ้นจากการได้ทำ (Meaning) หรือ คุณค่าที่เรายึดถือ (Value) เช่น การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การได้สร้างผลกำไรและเกิดประโยชน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การได้ดูแลรักษาสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาที่ยากและยังไม่มีใครแก้ได้ ฯลฯ 

ความหมายของสิ่งที่ทำและคุณค่าที่เรายึดถือเหล่านี้ (Meaning and value) จะค่อนข้างคงที่และเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่าความชอบ (Preference) ดังนั้นการพิจารณาโดยมองให้ทะลุไปถึงความหมายและคุณค่า จะทำให้เราพอใจกับทางเลือกนั้นได้ในระยะที่ยาวกว่าการพิจารณาจากเพียงแค่ความชอบ

——————

ส่งท้าย  

ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน อาทิ ประสบการณ์ที่เราเคยเห็น อ่าน หรือ เจอมาในอดีต (past experiences) น้ำหนักที่เราให้ต่อประสบการณ์นั้น ๆ (weight of experience) สะสมจนเป็นความเชื่อ (Belief) ความชอบ (Preferences) บุคลิก (Personality) สิ่งเหล่านั้นทำให้เราแปลความหมาย (interpret) ข้อมูล (information) และคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ในอนาคต (outcome) ด้วยสมมติฐานที่แตกต่างกัน (underlying assumption)

ดังนั้นสิ่งที่เราตัดสินใจเพื่อตัวเรา สิ่งที่คนอื่นตัดสินใจให้เรา และสิ่งที่เราตีความการตัดสินใจของคนอื่น ย่อมไม่เคยเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ผ่านเส้นทางชีวิตมาในแบบเดียวกัน ให้น้ำหนักกับความสำคัญ และมีจุดแข็งและสิ่งที่ทำได้ไม่เหมือนกัน 

สิ่งสำคัญคือการหาข้อมูล ทำความเข้าใจตัวเอง และตัดสินใจไปสักทาง เพราะสิ่งที่แย่กว่าการตัดสินใจไม่ดี คือ การวิ่งหนีและไม่ตัดสินใจ จนกระทั่งวันหนึ่งสถานการณ์และเวลาก็จะบีบบังคับให้เราจำเป็นต้องเลือกในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการ

ThaiYPGrow x Catapharcist.

ติดตามบทความ #เภสัชพัฒนางาน #เภสัชพัฒนาคน #เภสัชพัฒนาตนเอง 

ได้ที่แฟนเพจ Thaiypgrow We Grow Together, Thai Pharmacist

Twitter @Thaiypgrow 

และเว็บไซต์ www.thaiypgrow.com

Reference:

1.     Reutskaja, Elena and Lindner, Axel and Nagel, Rosemarie and Andersen, Richard A. and Camerer, Colin F. (2018) Choice overload reduces neural signatures of choice set value in dorsal striatum and anterior cingulate cortex. Nature Human Behaviour, 2 (12). pp. 925-935. ISSN 2397-3374.

2.     Heath, Chip., and Dan Heath. Decisive: How to Make Better Choices in Life and Work. New York: Crown Business, 2013.

3.     Nattavudh Powdthavee. (2019, April 27) จบไปแล้วเราจะไปทำอะไรกับชีวิตของเราดี. https://www.facebook.com/nattavudh.powdthavee/posts/10161716379470035

4.     Harris, R. (2007). The Happiness Trap: stop struggling, start living. Australia: Exisle Publishing.

5.     E. Ásgeir Juliusson, Niklas Karlsson & Tommy Gärling (2005) Weighing the past and the future in decision making, European Journal of Cognitive Psychology, 17:4, 561-575