ในสถานการณ์ที่โรคระบาดทวีกำลัง จำนวนผู้ติดเชื้อถูกรายงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคนที่ป่วยเริ่มประชิดตัวเรามากขึ้นทุกขณะ สิ่งที่ระบาดคู่ขนานและมากขึ้นไม่แพ้กัน คือ ข้อมูลข่าวสารปลอม ข่าวลือที่สร้างความตระหนกทำให้ประชาชนตื่นกลัวและตกใจ เภสัชกรในฐานะบุคลากรทางการแพทย์จะช่วยเหลือและรับมืออย่างไรในสถานการณ์ Infodemic
Infodemic คืออะไร ?
Infodemic มาจากคำว่า Information (ข้อมูลข่าวสาร) + Pandemic (โรคระบาด) คือ การระบาดของข้อมูลข่าวสารปลอม ข่าวลือ ที่กระจายไปทั่วและก่อให้เกิดภัยต่อผู้คน ซึ่งในปัจจุบันการส่งต่อ ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่กดแชร์ กดส่งก็ทำให้ข่าวลือหรือข้อมูลเท็จเหล่านี้ลุกลามระบาดไปสู่คนรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายในวงกว้าง
องค์การอนามัยโลกรายงานว่านี่คือการเผชิญหน้ากับ infodemic ที่แตกต่างและยิ่งใหญ่จากเมื่อครั้ง zika virus, SARS, MERS อย่างมาก ด้วยการเติบโตของ social media และ influencer ที่ตอนนี้ทุกคนสามารถสื่อสารได้ ทำให้มีข้อมูลเท็จปะปนจนประชาชนแยกไม่ถูกและค้นไม่เจอคำแนะนำที่ถูกต้องที่แท้จริง ส่งผลกระทบต่อการกระทำแบบผิด ๆ การตื่นตระหนกและกักตุน รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิผู้อื่นและทำร้ายร่างกาย
นับตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นมาทางองค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับ social media platform เพื่อสร้างและผลิตเนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเชื่อถือได้ พยายามกำจัดและลบเนื้อหาที่บิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดออกไป เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อประชาชนค้นหาข้อมูลทุกครั้งจะเจอข้อมูลที่ถูกต้องขึ้นมาเป็นอันดับแรก
“เราไม่ได้กำลังสู้แต่กับไวรัส เรายังต้องช่วยกันกำจัดการระบาดของข้อมูลปลอม”
ลักษณะของ infodemic
- มักจะเป็นข้อมูลที่ขึ้นต้นว่า มีข่าวลือว่า คนวงในพูดว่า รู้แล้วหรือยัง ที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของข้อมูลได้
- มักมีการพาดหัวหรือตัดตอนเอาข้อความบางส่วนที่กระตุ้นอารมณ์และสร้างดราม่าได้มาจูงใจ
- อาจเป็นการนำภาพเก่าหรือวิดีโอเก่า แต่มาเขียนบรรยายใหม่
- นำสิ่งที่เป็นความจริงบางส่วน แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนมากระจายต่อ
- มีใครบางคนได้ผลประโยชน์จากการระบาดของข้อมูลนั้น
- ชี้นำ ส่งเสริม หรือ เป็นแบบอย่างในสิ่งที่ก่อให้เกิดผลเสีย การแบ่งแยก ความรุนแรงก้าวร้าว และการปฏิบัติตัวที่ผิด
เภสัชกรและ RCCE
RCCE หรือ Risk Communication and Community Engagement คือ การสื่อสารและการเชื่อมโยงกับประชาชน เป็นกระบวนการสำคัญในการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ เกี่ยวกับสิ่งที่รู้และสถานการณ์ในปัจจุบัน (what is known) สิ่งที่ยังไม่รู้ (what is unknown) และสิ่งที่กำลังดำเนินการ (what is being done) เพื่อลดความตื่นตระหนกและทำให้วิธีการในการรับมือที่ถูกต้องกระจายออกไป ทำให้ประชาชนคนในชุมชนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และมีความเหมาะสม
เภสัชกรในทุกบทบาทสามารถช่วยกันสื่อสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สร้างความเชื่อมั่นด้วยข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมหลักฐาน และช่วยกันแก้ไขความเข้าใจผิด พยายามรายงานเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม แสดงหลักฐานแย้งเพื่อลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
เภสัชกรในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่เรียนมาในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีพื้นฐานความรู้ตรรกะที่จะใช้การวิเคราะห์ มีทักษะที่จะสืบค้นและใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการให้คำแนะนำ (evidence-based recommendation) นี่จึงเป็นบทบาทอีกหนึ่งเรื่องที่เราควรทำ
กระตุ้นภูมิคุ้มกันและหยุดการระบาดของ infodemic เริ่มได้ที่เรา
เมื่อข้อมูลเท็จเหล่านี้เป็นดั่งโรคระบาด พวกเราเภสัชกรจึงต้องมีวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน รู้วิธีรับมือ ช่วยกันหยุดการแพร่กระจายและระบาดของข้อมูลเหล่านี้ โดยมีคำแนะนำว่าก่อนจะกดปุ่มแชร์อะไรในสังคมออนไลน์หรือให้ข้อมูลอะไรกับคนไข้ เราต้องถามตัวเองเสมอว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนี้จริง ข้อมูลนี้จริงแค่ไหน ?” โดยมีคำแนะนำ 5 ข้อ ดังนี้
1. กดเข้าไปอ่านเนื้อหา อย่าอ่านแค่พาดหัว
เพราะหลาย ๆ ครั้งพาดหัวข่าว ต้องการลวงทำให้เข้าใจผิด เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้คนสนใจ
2. ตรวจสอบวันที่ที่โพสต์หรือวันที่ที่อัปเดตข้อมูล
เพราะบางครั้งก็เป็นข่าวเก่าที่ถูกนำมาแชร์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการอัปเดตและปรับปรุงแก้ไขข้อมูลแล้ว
3. ตรวจสอบว่าข้อมูลนั้น ปรากฎแหล่งข้อมูล หรือ บุคคลอ้างอิงที่ให้ข่าวนั้นหรือไม่ ?
หากไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งข่าว ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นก็ลดลงทันที แต่ถ้าหากปรากฎชื่อแหล่งข่าวควรกลับไปตรวจสอบโดยตรงจากแหล่งข้อมูลนั้นอีกครั้ง เช่น official facebook account หรือ official website เพราะหลายครั้งเป็นการตัดต่อหรือเป็นการนำเพียงข้อมูลบางส่วนมานำเสนอ
4. ตรวจสอบข้อมูลที่คล้ายกันจากหลายแหล่ง
แม้ตรวจสอบข้อมูลแล้วดูน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ให้ตรวจสอบแหล่งข่าวอื่น ๆ ด้วย ว่าอ้างอิงข้อมูลตรงกัน โดยให้ความสำคัญและให้น้ำหนักกับเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข่าวที่เป็นทางการหรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ มากกว่าข่าวที่มีจำนวนยอดแชร์ ยอดไลก์มากหรือคนดังแชร์
วิเคราะห์ว่าสิ่งที่กำลังสื่อสารนั้นเป็น ความคิดเห็น (opinion) หรือ เป็นข้อเท็จจริง (fact) หรือเป็นการกล่าวอ้าง (claim) หากเป็นการกล่าวอ้างเหตุผลคืออะไร (reason) และหลักฐานที่ใช้ประกอบน่าเชื่อถือและถูกต้องแค่ไหน (evidence)
การให้ข้อเสนอแนะและให้ข้อมูลประกอบหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือ evidence-based ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเสมอในทางการแพทย์ เพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีการค้นพบใหม่ ๆ และงานวิจัยสนับสนุนหลายมิติ
แนะนำแหล่งตรวจสอบข้อมูล:
- www.epi-win.com ศูนย์รับมือกับการระบาดของเชื้อและ infodemic โดยองค์การอนามัยโลก
- https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019 ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ covid-19
- https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/info.php สื่อและข้อมูลรายงานสถานการณ์ โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
5. ใช้ความรู้และทักษะเภสัชกรในการสืบค้น วิเคราะห์ โต้แย้งและสนับสนุน
เราสามารถใช้ทักษะที่ฝึกฝนมาตลอด 5-6 ปี ในการเรียนเภสัชมาใช้ในการช่วยวิเคราะห์และกรองข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นงานวิจัย ความรู้ทางสมุนไพร การเตรียมยา ความรู้ด้านไวรัส ภูมิคุ้มกัน ระบาดวิทยา กฎหมายสุขภาพ ความรู้ทางคลินิกและเภสัชวิทยา ความรู้ในการการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ดังนั้นแล้วเรามีภูมิต้านทานต่อการระบาดของข้อมูลปลอม ความคิดเห็นและคำกล่าวอ้าง เราสามารถหยุดการระบาดนี้ไม่ให้ไปสู่ประชาชนได้
ส่งท้าย
แม้การระบาดของไวรัสจะยังไม่มีวิธีการรักษา แต่เภสัชกรอย่างเราทุกคน สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะหยุดยั้งและป้องกันการระบาดของข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นเภสัชกรอยู่ที่ใด ไม่ว่าคุณจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อเจอข้อมูลที่ไม่จริงให้หยุดการส่งต่อ ให้โต้แย้งและเสนอข้อเท็จจริงหักล้าง ช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันทางข่าวสารให้กับคนรอบข้าง คนใกล้ตัว และคนไข้ที่อยู่ตรงหน้า นั่นคืออีกบทบาทหนึ่งของเราเภสัชกรในสถานการณ์โรคระบาดและข้อมูลเท็จระบาดในเวลานี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1.WHO (2020). Risk communication and community engagement (RCCE) readiness and response to the 2019 novel coronavirus (2019-nCoV). Retrieved Mar 11, 2020, from https://www.who.int/publications-detail/risk-communication-and-community-engagement-readiness-and-initial-response-for-novel-coronaviruses-(-ncov)
2.The lancet (2020). How to fight an infodemic. Retrieved Mar 11, 2020, from
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30461-X/fulltext
3.Wall Street Journal (2020). ‘Infodemic’: When Unreliable Information Spreads Far and Wide. Retrieved Mar 11, 2020, from
https://www.wsj.com/articles/infodemic-when-unreliable-information-spreads-far-and-wide-11583430244