“เบื่อ! ทำไมนางนั่นถึงทำอะไรก็ขัดใจฉันไปหมด”
“ช่วยไม่ได้! ก็ฉันเป็นคนพูดตรงๆ ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่รู้สินะ ดีกว่าพวกพูดอ้อมๆ ไร้สาระ”
“ทำไมเราต้องเก็บไว้ในใจอยู่คนเดียว คนอื่นเคยคิดถึงเราบ้างไหม”
ถ้าคุณเคยมีข้อความในใจเหล่านี้…ขอตั้งคำถาม 1 ข้อ ให้ตอบไว้ในใจก่อนเลยนะครับว่า
“ตอนนั้น อารมณ์ของคุณเป็นอย่างไร?”
หลายคนเคยมาพูดคุยกับผม ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดี เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไรดี จริงๆ แล้วคำถามแนวนี้ยากมากเลยนะครับ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคำตอบของเราจะไปตรงใจกับสิ่งที่เขาต้องการหรือไม่ ก็ได้แต่ถามกลับไปว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร?” คำถามสั้นๆ ที่เล่นเอาบางคนถึงกับตอบไม่ถูกเหมือนกันนะครับ
แล้วทำไมเราถึงไม่รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร หรือเราไม่กล้าที่จะบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร?
เปิดใจให้กว้างก่อนจะอ่านบทความนี้ต่อไป แล้วเรามาทำความรู้จักกับ “ความฉลาดทางอารมณ์” ไปด้วยกันนะครับ
พอพูดถึง “อารมณ์” ก็คงต้องกล่าวถึง “ความรู้สึก” สักหน่อย เพราะสองคำนี้มักจะมาคู่กัน บางตำราก็บอกว่าอารมณ์เกิดขึ้นภายในจิตใจ ส่วนความรู้สึกเป็นสิ่งที่รับรู้จากภายนอก เช่น รู้สึกร้อน รู้สึกเจ็บ บางสำนักก็บอกว่าอารมณ์เกิดขึ้นแบบทันทีใดอัตโนมัติ ส่วนความรู้สึกเกิดขึ้นเมื่อเราประเมินอย่างมีสติ สุดแท้แต่ว่าเราจะอ้างอิงจากหลักการใด ในบทความนี้ขอรวบเป็นหนึ่งเดียวเหมือนอย่างที่หลายสำนักกล่าวไว้ว่าทั้งสองสิ่งนี้แยกจากกันไม่ได้ หรือใช้แทนกันก็พอรับได้อยู่ ไม่เป็นไร จะได้เข้าใจง่าย เอาให้เป็นสิ่งเดียวกันก่อนแล้วกัน
เอาละ เรามาพูดถึง “ความฉลาดทางอารมณ์” กันได้แล้ว มีนักจิตวิทยาหลายท่านได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ขออ้างอิงถึงคุณ Goleman (1998) ที่ได้นำเสนอองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ไว้ 5 ประการ ได้แก่
- การตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-awareness) คือความสามารถที่เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง รู้ว่าเรากำลังเกิดอารมณ์หรือความหรือรู้สึกอะไรอยู่ และเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น เป็นผู้มีสติรู้ตัว รู้ถึงข้อดีและข้อเสียของตนเอง
- การควบคุมอารมณ์ของตนเอง (self-regulation) ตรงตัวเลย คือความสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ตนเอง แบบที่ไม่หลอกตัวเองว่ามีอารมณ์แบบที่อยากให้เป็น ไม่ปฏิเสธอารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง และคิดได้ด้วยสติว่าจะจัดการกับอารมณ์นั้นอย่างไรในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับผู้อื่น ไม่วีนไม่เหวี่ยงอย่างไร้เหตุผล
- การจูงใจตนเอง (self-motivation) คือความสามารถในการเชียร์ตัวเองนั่นแหละ แปลว่าเราเองที่สามารถกระตุ้นให้ตัวเรามีแรงจูงใจ มุ่งมั่น พยายามไปสู่เป้าหมายด้วยความเชื่อมั่นและมีความหวัง
- การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) คือความสามารถที่เรารู้ เข้าใจ และยอมรับอารมณ์ของผู้อื่น ก็อาจดูได้จากสีหน้าแววตากิริยาท่าทางของเขาได้
- ทักษะทางสังคม (social skills) คือความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พูดคุยหรือทำงานร่วมกันได้ สร้างเครือข่ายสังคม ตลอดจนสามารถจัดการความขัดแย้งในกลุ่มได้
พอรู้ความหมายขององค์ประกอบต่างๆ แล้ว ดูเหมือนว่าความฉลาดทางอารมณ์น่าจะดีแน่ๆ เลย ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ มีการศึกษาของคุณ Travis Bradberry ที่รายงานว่า กว่า 90% ของ Top Performers มีระดับความฉลาดทางอารมณ์สูง ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามาเรียนรู้เทคนิคที่ช่วยเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์กัน
คุณ Travis Bradberry เขาได้แนะนำไว้ด้วยนะว่า วิธีเริ่มต้นที่เราจะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้ ต้องกำจัดความเครียดและนอนอย่างมีคุณภาพให้เพียงพอเสียก่อน ก็เพื่อให้ร่างกายมีสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆ โดยเฉพาะระดับของ cortisol นั่นเอง พอร่างกายเราพร้อมแล้ว จึงเริ่มกระบวนการฝึกฝน โดยเราไปหยิบคำแนะนำ 6 ขั้นตอนในการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของคุณ Ramona Hacker มาขยายความ (ถ้าใครสนใจเรียนรู้เพิ่ม ไปค้นหาชื่อนางฟังได้ใน TED Talk จ้า)
6 ขั้นตอนในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
ขั้นตอนที่ 1 รับรู้อารมณ์ (acknowledge emotions) เริ่มจากการที่เราดึงสติกลับเข้าร่างก่อนเลย บอกตัวเอง เตือนตัวเองก่อนว่า “นี่เรากำลังรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ตรงหน้า” หยุดทุกการกระทำ อย่าพึ่งรีบโต้ตอบต่อสิ่งเร้าใดๆ เมื่อสติอยู่กับตัวแล้ว ไปต่อที่ขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 2 แยกแยะและวิเคราะห์อารมณ์ (differentiate and analyze emotions) ครั้นจะให้แยกแยะเลยก็กระไรอยู่ มาทำความรู้จักกับอารมณ์พื้นฐานกันก่อนดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดๆ ที่คุณนึกออก ล้วนแล้วเกิดมาจากการผสมผสานของอารมณ์พื้นฐาน 8 อารมณ์ คล้ายๆ แม่สีเลย เอาสีน้ำเงินผสมกับสีเหลืองได้สีเขียวอย่างนั้นเลย อารมณ์พื้นฐานก็เอามาผสมกันได้เป็นอารมณ์ใหม่ที่มีส่วนประกอบเป็นอารมณ์พื้นฐานนั่นเอง มีอะไรบ้าง นี่เลย ต้องอ้างอิงมาจาก Plutchik’s Wheel of Emotions เขาบอกว่ามี ความโกรธ ความกลัว ความขยะแขยง ความไว้ใจ ความเศร้า ความสุข ความประหลาดใจ และความคาดหวัง อย่างเช่นเราเอาความไว้ใจมาผสมกับความสุข ก็แปลว่าเราจะไว้ใจเขาและมีความสุขกับเขา นั่นคือความรักนั่นเอง ประมาณนี้
อารมณ์พื้นฐานจริงๆ แล้วก็มีหน้าที่ในตัวมันอยู่ด้วย อย่างความโกรธทำหน้าที่กระตุ้นให้เราสร้างพลังไปต่อสู้กับปัญหา ความกลัวก็คอยกระตุ้นให้เราระวังตัวหรือปกป้องตนเองจากสิ่งที่เราคิดว่าเป็นภัย พอเราเข้าใจแล้วว่าอารมณ์แต่ละอารมณ์เป็นส่วนผสมจากอารมณ์พื้นฐานเหล่านี้ เราก็ค่อยๆ จำแนกแยกออก ให้เราได้รู้เท่าทันอารมณ์ของเราเอง ยับยั้งชั่งใจหรือตัดสินใจอย่างมีสติ
ขั้นตอนที่ 3 ยอมรับอารมณ์ (accept and appreciate emotions) พอเรารู้จักอารมณ์แล้ว เราก็ยอมรับในอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ อย่าไปมอบหมายหน้าที่อื่นที่มากกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ที่ฉันทำลงไปเพราะฉันโกรธ ตอนนั้นมันแค้นมากๆ จึงไม่ทันยั้งคิด อย่าปล่อยให้อารมณ์เป็นนายเรา ลองฝึกวิเคราะห์อารมณ์และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับมัน อย่าปฏิเสธอารมณ์ตัวเอง ให้เป็นไปตามสภาพที่ควรจะเป็น
ขั้นตอนที่ 4 สะท้อนอารมณ์และจุดกำเนิดอารมณ์ (reflect on your emotions and their origin) เรามาลองหาตัวกระตุ้นที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ต่างๆ กัน ลองวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ทางบวก (คือในทางที่ดีที่ควร) หรืออารมณ์ทางลบ (คือในทางที่ไม่ค่อยดี อาจเป็นอันตราย) ลองนึกดูง่ายๆ เช่น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้กินพิซซ่า เรารู้สึกว่าเราอารมณ์ดีจังเลย เหมือนมีแรงพร้อมจะลุยงานต่อ แสดงว่าพิซซ่าอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เราเกิดอารมณ์ทางบวก เมื่อใดที่เราเศร้าหมอง อาจลองสั่งพิซซ่ามาเพิ่มพลังทางบวกให้ตัวเองก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย ในอีกมุมหนึ่ง สมมติว่าเราฟังเพลงนี้แล้วเราเศร้ามาก จนพาลให้เราสิ้นหวังไปกับหลายๆ เรื่อง เพลงนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ทางลบ เราก็หลีกเลี่ยงเพลงนี้ให้มากที่สุด นี่คือการแยกแยะและวิเคราะห์ พร้อมทั้งรู้เท่าทันปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่เป็นจุดกำเนิดอารมณ์ด้วย
ขั้นตอนที่ 5 รับมือกับอารมณ์ของเรา (handle your emotions) เราต้องรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ด้วย พอพูดเรื่องการควบคุมมักจะคิดไปถึงอารมณ์ทางลบ จริงๆ ก็อารมณ์ทางบวกด้วยเนอะ อย่าให้มันครอบงำเรามากเกิน ไม่อย่างนั้นจะออกแนวคลั่งรัก โลกสวย จนเกินความพอดีของแต่ละบุคคลไป ทีนี้จะทำอย่างไรเมื่อเราต้องควบคุมอารมณ์ วิธีง่ายๆ คือเมื่อเราเจอกับเหตุการณ์ตรงหน้าแล้วทำให้เราอารมณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน จำเป็นต้องควบคุมการแสดงออก ให้เราหยุดทุกอย่าง หายใจเข้า หายใจออก แล้วรีบถามตัวเองเลยว่า ถ้าฉันสวนกลับไปอย่างนี้มันดีจริงๆ หรือ งั้นลองหาวิธีอื่นดีไหม (ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก ภายใน 3 วินาที สมองจะตื้อ) ถ้าตัดสินใจได้ว่าเลี่ยงได้ ให้เลี่ยงก่อนเลย กลับไปตั้งหลักก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องตอบโต้ ให้ลองใช้ถ้อยคำที่ประนีประนอมที่สุดก่อน เช่น “เอาอย่างนี้ดีไหม…” “เราเข้าใจนะว่าเธอกำลังรู้สึกโกรธ ในอีกมุมหนึ่งเราคิดว่า… เธอว่าอย่างไรบ้าง” อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับสถานการณ์ตรงหน้าและความสัมพันธ์ของผู้ร่วมชะตากรรมด้วยนะครับ
ขั้นตอนที่ 6 รับมือกับอารมณ์ของผู้อื่น (handle the emotions of others) เมื่อเราเข้าใจอารมณ์ของเราในมิติต่างๆ แล้ว เราก็ลองฝึกสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้อื่นดู หรือสังเกตจากพฤติกรรมคำพูดก็ได้ ลองวิเคราะห์ว่าเขาน่าจะกำลังมีอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ เราจะเข้าหาหรือตั้งรับกับเขาดี ทีนี้ก็ต้องขึ้นกับว่าเขาเป็นใครและเรากำลังอยู่ในเหตุการณ์ไหนด้วย เช่น เพื่อนร่วมงานที่กำลังจะต้องประชุมร่วมกันหน้าตาบึ้งตึงมากผิดปกติ หากประชุมไปอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ดีแน่ เพราะเห็นหัวหน้าทีมกำลังหน้าตึงอยู่ด้วยอีกคน เดาก่อนเลยว่าก่อนหน้านั้นอาจจะเกิดอะไรขึ้นมากับสองคนนี้ เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องเผชิญหน้าทันที เราก็ดูฟ้าดูฝนก่อน จำเป็นจะต้องเข้าไปแทรกกลางหรือไม่ แนะนำว่าอะไรเลี่ยงได้ให้เลี่ยงก่อน แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ทำใจก่อน หายใจเข้าลึกๆ แล้วใช้ชีวิตปกติก่อน เพราะไม่มีใครที่กำลังโกรธแล้วอยากให้คนมาชี้ว่าโกรธอยู่
อีกสถานการณ์หนึ่งคือเป็นอารมณ์ทางลบที่ไม่เร่งด่วน เช่น เราอาจไปผิดใจกับใครสักคน หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว การจะเริ่มบทสนทนาคงเป็นอะไรที่ลำบากใจมาก ให้เริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์แล้วระบุปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ทางลบ เมื่อเข้าใจแล้ว ลองมองหาตัวกระตุ้นอารมณ์ทางบวก แล้วคิดถึงการกระทำของเราที่อาจจะส่งผลต่อความคิดของผู้อื่น เช่น หากเราเริ่มเข้าไปขอโทษ เขาอาจจะเกิดความคิดที่เริ่มใจอ่อนและเปิดใจคุยกับเรา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ให้ดูฟ้าดูฝนอีกที หาสถานที่เหมาะๆ แล้วเริ่มคุยกันเลย เพราะคงไม่มีทางที่คนสองคนจะเข้าใจกันได้หากไม่พูดคุยกัน
พอเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า “ทำไมเราต้องมีความฉลาดทางอารมณ์” นั่นก็เพราะเพื่อให้เราและคนรอบข้างมีความสุขด้วยความเข้าใจกันนั่นเอง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงบทสรุปโดยย่อเท่านั้น หากใครต้องการศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียด แนะนำหนังสือเรื่อง “Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ” ของคุณ Daniel Goleman แต่ถ้าสนใจเนื้อหาแบบสั้นๆ แนะนำให้กูเกิ้ลเลย มีเพียบ หรือจะมาพูดคุยกันก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในอินเทอร์เน็ตก็ยังมีแบบวัดความฉลาดทางอารมณ์อีกมากมายให้เราได้ลองประเมินตนเองกัน อย่าลืมว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือ “ทักษะ” แปลว่าเราสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ หากฝึกใช้ฝึกคิดฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงจากภายใน
_________________________________________________________